GPI พุ่งแรง 12% นิวไฮรอบ 3 ปี ลุ้นครึ่งหลังฟื้นตัว ธุรกิจจัดงานอีเวนท์-โรงไฟฟ้าหนุนเด่น
GPI พุ่งแรง 12% นิวไฮรอบ 3 ปี ลุ้นครึ่งหลังฟื้นตัว ธุรกิจจัดงานอีเวนท์-โรงไฟฟ้าขยะหนุนเด่น โดย ณ เวลา 15:07 น.อยู่ที่ 2.46 บาท บวก 0.26 บาท หรือ 11.82%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(26ต.ค.2564) ราคาหุ้นบริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI ณ เวลา 15.07 น.อยู่ที่ 2.46 บาท บวก 0.26 บาท หรือ 11.82% สูงสุดที่ 2.56 บาท ต่ำสุดที่ 2.16 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 246.16 ล้านบาท ราคาหุ้นนิวไฮในรอบ 3 ปี โดยเทียบตั้งแต่หุ้นอยู่ที่ระดับ 2.56 บาท เมื่อวันที่ 10 ต.ค.61
โดยก่อนหน้านี้(8 ก.ย.2564)นายพีระพงศ์ เอี่ยมสำเนา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการฝ่ายผลิตสื่อ GPI เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/64 จะลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปีนี้ไม่มีการจัดงานมอเตอร์โชว์ เหมือนในไตรมาส 3/63 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้น
ขณะที่แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในครึ่งปีหลังนี้ เริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บรรเทาลง ทำให้บริษัทคาดว่าจะเริ่มกลับมาจัดงานอีเวนท์เล็กๆ ได้ในช่วงไตรมาส 4/64 ประกอบกับการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจพลังงานในปีที่ผ่านมา
โดยเข้าลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า กำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ ถือหุ้นในสัดส่วน 25.45% ในบริษัท ทรูเอ็นเนอร์จี จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงแปรรูปจากขยะ แม้ยังมีความล่าช้าของโครงการค่อนข้างมาก จากการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าต่างๆ และสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้การติดต่อไม่ราบรื่น แต่ปัจจุบันโรงไฟฟ้าได้ผ่านการพิจารณา และได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการแล้ว คาดว่าจะทดสอบเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (Test run) ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ และจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในเดือนต.ค.64 ทำให้บริษัทจะทยอยรับรู้ส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการลงทุนเข้ามาในไตรมาสสุดท้ายนี้
จากปัจจัยดังกล่าวบริษัทคาดว่าจะเป็นอีกแรงสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานในปีนี้เติบโตดีกว่าปีก่อนที่มีรายได้ 518.76 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 34.09 ล้านบาท ขณะที่ครึ่งปีแรกมีรายได้รวมที่ 452 ล้านบาท ใกล้เคียงกับทั้งปีก่อนแล้ว และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 115.14 ล้านบาท จากการลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง
นายพีระพงศ์ กล่าวว่า สำหรับทิศทางผลการดำเนินงานในปี 65 บริษัทคาดว่าจะสามารถเติบโตจากปีนี้ได้ เนื่องจากจะกลับมาจัดงานมอเตอร์โชว์ได้ในช่วงเวลาเดิม คือมี.ค.-เม.ย. หรืออย่างช้าเดือน พ.ค รวมถึงยังมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรตามสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าเข้ามาเต็มปี
บริษัทฯ ยังคงดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ ภายใต้ธีม “GAIN” ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1.G หรือ Growth from the core เป็นการเติบโตจากธุรธุรกิจหลักและต่อยอดความเชี่ยวชาญไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าวบริษัทมีแผนงานขยายธุรกิจซื้อรถสะสมหรือรถแข่ง นำมาปรับแต่งให้อยู่ในสภาพดีเพื่อจำหน่ายแก่นักสะสมหรือจัดแสดงในงานเอ็กซิบิชั่นต่างๆ โดยตั้งเป้าหมายสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่ประมาณ 15% ต่อปี,2.A หรือ Agile and Lean เน้นการปรับตัวอย่างรวดเร็วในทุกสถานการณ์และลดความสูญเสียในกระบวนการต่างๆ
3.I หรือ Investment and Diversification ขยายการลงทุนและแตกไลน์ธุรกิจอื่นๆ ที่มีศักยภาพ,4.N หรือ New Media Landscape (O2O) โดยการผสมผสานธุรกิจสื่อออนไลน์และออฟไลน์ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ และใช้ออโต เมทริกซ์โซลูชันส์ บริษัทในเครือที่ร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ เป็นแกนหลักในการขยายฐานสมาชิกของแอปพลิเคชัน Car Buddy by GPI และสร้างรายได้จากผู้ประกอบการที่สนใจทำกิจกรรมการตลาดกับสมาชิกของแอปพลิเคชันดังกล่าว ซึ่งในปี 64 เริ่มมีรายได้เข้ามาแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่ยังไม่เอื้อ จึงยังคงมีผลขาดทุนอยู่
อย่างไรก็ตามจากกลยุทธ์ดังกล่าว บริษัทคาดว่าใน 4 ปีข้างหน้า (64-67) จะไม่ได้มีแค่ธุรกิจหลัก หรือการจัดงานมอเตอร์โชว์ อีเว้นท์ อีกต่อไป แต่จะมีธุรกิจใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา เช่น โรงไฟฟ้า, Car Insurance broker, P2P Leasing เป็นต้น ทำให้บริษัทสามารถกระจายความเสี่ยงของรายได้ และยังเข้าไปอยู่ทุกๆ ช่วงวัยของผู้บริโภค