คมนาคมสรุปตั้ง “อู่ตะเภา” เป็นนิคมอุตฯการบิน วงเงินลงทุน 1.5 หมื่นลบ.
“อาคม” รมว.คมนาคมสรุปผลศึกษาตั้ง "อู่ตะเภา" เป็นนิคมอุตฯการบิน โดยจะพัฒนากิจกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) และกิจกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (Original Equipment Manufacturer : OEM) วงเงินลงทุน 15,000 ล้านบาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับทราบรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย สรุปแล้วว่าจะเสนอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินที่สนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากพื้นที่มีความพร้อมและเหมาะสมในการพัฒนา โดยตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
โดยจะพัฒนากิจกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) และกิจกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (Original Equipment Manufacturer : OEM) วงเงินลงทุน 15,000 ล้านบาท โดยมี อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 22% และอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 6.34% และประมาณการรายได้ตลอดสัญญา 30 ปี ที่ 2.4 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนในการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ที่จะสามารถเปิดให้เอกชนลงทุนได้ โดยหลังจากนี้จะนำผลการศึกษาไปหารือกับกองทัพเรือ (ทร.) ในฐานะเจ้าของพื้นที่และเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายฯของกระทรวงคมนาคม เรื่องการจัดตั้งนิคมอุตสากรรมการบิน เพื่อหาข้อสรุปร่วมกับและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) พิจารณาต่อไป ในขณะเดียวกัน จะต้องเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรไว้ด้วย โดยคาดว่าในช่วงแรก มีความต้องการทั้งวิศวกรและบุคลากรในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องประมาณ 1,800 คน จนถึงปี 2566 และระยะต่อไป ถึงปี 2576 จะต้องการบุคลากรถึง 3,500 คน
สำหรับการศึกษาวิเคราะห์พบว่า อัตราการเติบโตด้านอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคใน 20 ปีข้างหน้าจะสูงมาก โดยมีคำสั่งซื้อเครื่องบินจำนวน 12,820 ลำ ซึ่งสูงสุดในโลกสัดส่วน 36% โดยในปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีการเติบโตของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ เส้นทางระหว่างประเทศ 55% และภายในประเทศ 45%
โดยสายการบินที่บินเข้าประเทศไทยทั้งหมดมีการซ่อมบำรุงอากาศยานมูลค่าถึง 23,200 ล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากไทยมีศูนย์ซ่อม 3 แห่ง คือดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ซึ่งมีขีดความสามารถรองรับได้เพียง 40% หรือประมาณ 9,300 ล้านบาทต่อปี ทำให้อีก 60% มูลค่าประมาณ 139,000 ล้านบาทต้องไปซ่อมต่างประเทศ
ดังนั้น หากสามารถจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานที่อู่ตะเภาได้ จะทำให้ดึงเม็ดเงิน 60% กลับมาอยู่ในประเทศไทยได้ โดย แบ่งการลงทุนเป็น 3 ระยะ ๆ ละ 5,000 ล้านบาท (ระยะที่ 1 ปี 2559-2561 , ระยะที่ 2 ปี 2564-2566 และระยะที่ 3 ปี 2569-2571 ซึ่งจะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานครบวงจรหรือ Aeropolis : มหานครอากาศยาน) โดยระยะแรกจะมีการก่อสร้างอาคารสำหรับซ่อมเครื่องบิน (แฮงก้า) 2 หลัง รองรับเครื่องบินได้ 48 ลำต่อปี ระยะที่ 2 ก่อสร้างเพิ่มอีก 2 หลังและระยะที่ 3 ก่อสร้างเพิ่มอีก 2 หลัง อย่างไรก็ตามแม้จะพัฒนาเต็มทั้ง 3 ระยะแต่พบว่า ขีดความสามารถสูงสุดรองรับการซ่อมบำรุงได้เพียง 60% ดังนั้นจะต้องพิจารณาพื้นที่อื่นสำหรับขยายเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานเพิ่มเติมอีกด้วย