ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง TKC ขายไอพีโอ 78 ล้นหุ้น ลุยเทรด SET ปี 65

TKC คาดเทรด SET ปีหน้าหลัง ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 78 ล้านหุ้น ระดมทุนขยายธุรกิจรองรับโอกาสการเติบโตของเทคโนโลยี 5G หวังก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจดิจิทัลโซลูชั่นครอบคลุมด้านโทรคมนาคมและไอซีที


นายสยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC ผู้ให้บริการออกแบบ วางระบบ จัดหา จำหน่ายอุปกรณ์ ติดตั้ง และบริการบำรุงรักษาระบบ  ที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมในสายงานระบบโทรคมนาคม ระบบสื่อสารข้อมูล และระบบความปลอดภัยสาธารณะ เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางกลยุทธ์มุ่งสู่การเป็นที่หนึ่งในธุรกิจดิจิทัลโซลูชั่น ครอบคลุมด้านโทรคมนาคมและไอซีที

โดยล่าสุดได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 78 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.00% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (Par value) 1.00 บาทต่อหุ้น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพื่อสนับสนุนให้ TKC มีศักยภาพและความพร้อมสูงในการเติบโตรองรับความต้องการของลูกค้า และการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยี 5G ความต้องการการใช้งานทางด้าน IoT AI ระบบคลาวด์ และโซลูชั่นส์อัจฉริยะต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ การระบาดของ COVID-19 ทำให้มีการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เรียนออนไลน์ และเพิ่มความต้องการติดตั้ง Fixed Broadband และการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

โดย TKC จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจในโครงการเกี่ยวข้องกับระบบโทรคมนาคม ระบบโครงข่ายสื่อสัญญาณ (Transmission Networks) ระบบศูนย์ข้อมูลหลักและศูนย์ข้อมูลสำรอง (Data Center) ระบบคลาวด์ (Cloud) ระบบ Smart Solutions ระบบวิทยุสื่อสารดิจิทัลและระบบตรวจสอบเฝ้าระวังและการบริหารความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Security) รวมถึงงานบริการและบำรุงรักษาต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง

ด้าน TKC เป็นผู้เชี่ยวชาญและชำนาญด้านการวางระบบเครือข่ายสื่อสารและเทคโนโลยี ดำเนินธุรกิจให้บริการรับเหมาออกแบบ วางระบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้ง ทดสอบ และบำรุงรักษาระบบงานวิศวกรรมในสายงานระบบโทรคมนาคม  ระบบสื่อสารข้อมูล และ ระบบความปลอดภัยสาธารณะ โดยบริษัทฯ เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเจ้าของผลิตภัณฑ์โทรคมนาคม และเครือข่ายสารสนเทศชั้นนำระดับโลก เช่น  Huawei, Nokia, Cisco, Verint,  Oracle, Netka System, XOVIS, Fortinet เป็นต้น

โดยให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยลักษณะการให้บริการแบ่งเป็น 3 กลุ่มงาน ได้แก่ โครงการรับเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project หรือ งานโครงการ) งานบริการวิศวกรรมและงานบำรุงรักษา และงานจัดจำหน่ายอุปกรณ์  โดยบริษัทฯ จัดจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบโทรคมนาคม ระบบสื่อสารข้อมูล และระบบความปลอดภัยสาธารณะ สินค้าที่จำหน่ายเป็นสินค้าจากแบรนด์ชั้นนำระดับโลกที่บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายและพันธมิตรทางธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ถือหุ้นในบริษัทย่อย 2 แห่ง คือ บริษัท ไอบีเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด  (IBS) และบริษัท พาราไดม์ เทคโนโลยี เซอร์วิส จำกัด (PTS) ซึ่งประกอบธุรกิจที่เสริมธุรกิจของบริษัทฯ โดยโครงสร้างรายได้ในงวด 6 เดือนแรกปี 2564 มาจากงานโครงการมากกว่า 70% รายได้จากงานบริการและบำรุงรักษากว่า 29% ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากงานจัดจำหน่าย ด้วยจุดแข็งและกลยุทธ์ ในความเชี่ยวชาญตลอดระยะเวลามากกว่า 18 ปี ที่บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนา ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นธุรกิจหลักที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์การทำงานด้านรับเหมาการสื่อสารและโทรคมนาคม ซึ่งทำให้เข้าใจอุตสาหกรรมเป็นอย่างดี ทั้งเตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร ผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอนาคต มีระบบการควบคุมบริหารจัดการแต่ละส่วนงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้จากการเป็นผู้รับเหมามาก่อนทำให้บริหารต้นทุนได้ดีกว่าคู่แข่ง และการมีทีมวิศวกรที่มีทักษะ In-House ทำให้บริษัทฯ สามารถแข่งขันได้ทั้งในแง่ความสามารถในการบริการและราคา รวมถึงมีการดูแลและการให้บริการหลังการขายที่สร้างความพึงพอใจและความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าอย่างต่อเนื่องทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่น ไว้ใจและกลับมาใช้บริการ

ส่วนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในครั้งนี้ จึงเป็นการสนับสนุนและพัฒนาเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยี 5G ตามความต้องการใช้งานทางด้าน IoT AI ระบบคลาวด์ และโซลูชั่นส์อัจฉริยะต่างๆ เป็นต้น เพื่อรองรับโอกาสเติบโตในอนาคต

นางสาวเดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC เรียบร้อยแล้วตามแผน คาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หมวดธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  คาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนภายในปี 2565

โดยปัจจุบัน TKC มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้ว 222 ล้านบาท และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการที่เหลือหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และทุนสำรองต่างๆ ตามกฎหมาย ด้านโครงสร้างของผู้ถือหุ้น ประกอบด้วยกลุ่มนายสยาม เตียวตรานนท์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วนก่อนและหลัง IPO ที่ 62.25% และ 46.06% ตามลำดับ และบริษัท สกาย ไอซีที จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วนก่อนและหลัง IPO ที่ 34.00% และ 25.16% ตามลำดับ

สำหรับฐานะทางการเงินตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 – 2563) บริษัทฯ มีรายได้รวมในปี 2561 – 2563 อยู่ที่ 3,669.65 ล้านบาท 4,907.25 ล้านบาท และ 2,881.92 ล้านบาท ตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 216.50 ล้านบาท 423.03 ล้านบาท และ 232.85 ล้านบาท ตามลำดับ ในงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 มีรายได้รวม 1,374.59 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.52 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า มีกำไรสุทธิ 152.62 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทฯ มีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2561 -2563 และงวด 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ มีอัตรากำไรสุทธิ ร้อยละ 5.90 ร้อยละ 8.62 ร้อยละ 8.09 และร้อยละ 11.10 ตามลำดับ อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากการบริหารต้นทุนที่ดีทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น ประกอบกับความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ดีขึ้น

สำหรับแนวโน้มปี 2564-2565 คาดว่าธุรกิจโทรคมนาคมจะขยายตัวร้อยละ 3-5 โดยได้รับอานิสงค์จากการสนับสนุนของภาครัฐตามนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้มีการลงทุนในเทคโนโลยี 5G และการก่อสร้างระบบเครือข่ายและอุปกรณ์สื่อสารชนิดต่างๆ เพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ตามการเติบโตของความต้องการใช้ข้อมูล Non-Voice ที่ขยายตัวจากการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ และรายได้จากธุรกิจ Fixed Broadband ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการบริการที่ประยุกต์ใช้ 5G มีแนวโน้มขยายมากขึ้น เช่น บริการ Cloud Data Center ยานยนต์ไร้คนขับ และ Smart Solutions ต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้ธุรกรรมออนไลน์ การเก็บข้อมูลและประมวลผลโดยใช้ Cloud การใช้งานอุปกรณ์ IoT ที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้มีความต้องการด้าน Cyber Security มากขึ้นเพื่อป้องกันข้อมูลและการโจมตีทางไซเบอร์

“มองว่าโอกาสของ TKC หลังจากบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  จะทำให้บริษัทฯ มีความพร้อมมากขึ้นในการลงทุนด้านการพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคม คาดว่าจะเจริญเติบโตมากอีกครั้งจากการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ และมีการติดตั้งสถานีฐานและเสาสัญญาณจำนวนมากเพื่อรองรับ 5G ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของมูลค่าตลาดสื่อสารโทรคมนาคม และเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโทรคมนาคม การเปลี่ยนแปลงมาเป็น 5G ทำให้มีความต้องการด้านโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมมากขึ้นและเพิ่มศักยภาพให้ TKC ก้าวสู่ความเป็นผู้นำในการให้บริการงานวิศวกรรมในสายงานเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต” นางสาวเดือนพรรณ กล่าว

Back to top button