สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 15 ต.ค.58
– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 118.43/44 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 119.06/11 เยน/ดอลลาร์
– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1442/1443 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1468 ดอลลาร์/ยูโร
– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,425.32 จุด เพิ่มขึ้น 20.24 จุด หรือ 1.44% มูลค่าการซื้อขาย 44,223.15 ล้านบาท
– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 908.38 ล้านบาท (SET+MAI)
– นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานเสวนา Post Forum 2015 “Rebuilding The Thai Economy:Meet The Economic Team ร่วมสร้างเศรษฐกิจไทย” ว่า จากนี้ไปรัฐบาลจะเน้นการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจใน 4 ด้าน คือ ปรับสมดุลเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพภาคการผลิต ส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ และการเชื่อมโยง(Connectivity)
– นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ยืนยันกรมสรรพสามิตจะเริ่มบังคับใช้โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ที่จัดเก็บจากการใช้เชื้อเพลิงและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.59 ซึ่งส่งผลให้ราคาขายรถยนต์มีทั้งที่ปรับเพิ่มขึ้นและลดลง ทุกอย่างจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากกระบวนการได้เดินหน้าไปหมดแล้ว และการคำนวณภาษีจากการปล่อยก๊าซดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมและถูกต้องที่สุด
– นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พลังงาน ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้คงจะเติบโตไม่ถึง 3% แม้ช่วงปลายไตรมาส 3-4 จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐเข้ามาแต่ยังส่งผลได้ไม่มากนัก ขณะที่การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว โดยเชื่อว่าปี 59 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 3-4% โดยจะมีการลงทุนภาครัฐที่เป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ ขณะเดียวกันการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 20% เป็นการถาวรจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนมากขึ้นด้วย
– นางอุสรา วิไลพิชญ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดเงินและตลาดทุน ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เผยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ราว 2.9% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตราว 6% ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ทำไว้เมื่อปลายปีก่อน เนื่องจากการลงทุนภาครัฐยังไม่เกิดขึ้นมากนัก ขณะที่การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้หดตัวราว 5% ส่งผลต่อความมั่นใจของผู้บริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนให้ชะลอตัว
อย่างไรก็ตามมองว่าในช่วงไตรมาส 4/58 คาดว่าการบริโภคจะกลับเข้ามค่อนข้างเร็ว หลังจากที่ทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลได้ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ให้ความช่วยเหลือทั้งกลุ่มเอสเอ็มอี และผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะทำให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเร็วขึ้น ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 59 มองว่าน่าจะเติบโตได้ 4% เป็นผลจากการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนของการพัฒนาระบบราง รวมไปถึงการขยายเส้นทางมอเตอร์เวย์ต่างๆ ตลอดจนภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะเข้ามาช่วยผลักดันเศรษฐกิจ และจะส่งผลต่อความมั่นใจของภาคเอกชนให้กลับมาลงทุนมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามด้านการส่งออกในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1-3% หลังเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ มองว่าหากธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะทำให้ค่าเงินบาท เคลื่อนไหวที่ราว 35.6 บาท/ดอลลาร์ แต่หากสหรัฐฯยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าทะลุ 35 บาท/ดอลลาร์ และในปี 59 หากสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาทก็น่าจะเคลื่อนไหวที่ราว 34.75 บาท/ดอลลาร์ แต่หากไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้นทะลุ 34 บาท/ดอลลาร์
– นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พลังงาน คาดธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ทั้งนี้หากมีการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยจริงจะส่งผลกระทบให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินทั่วโลก
– นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยขณะนี้เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากรัฐบาลได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากภาวะเศรษฐกิจได้พ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยน่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้หรือประมาณต้นปี 59
– สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(Thai BMA) คงเป้าหมายมูลค่าหุ้นกู้ระยะยาวของภาคเอกชนในปีนี้ที่ 5.2 แสนล้านบาท หลังจากช่วง 9 เดือนแรกมีการเสนอขายหุ้นกู้แล้ว 428,231 ล้านบาท โดยจำนวนรายของผู้เสนอขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนในปีหน้าคาดว่ามูลค่าหุ้นกู้ระยะยาวของภาคเอกชนน่าจะใกล้เคียงปีนี้ เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ออกหุ้นกู้ไปมากแล้ว จึงเชื่อว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กจะออกหุ้นกู้กันมากขึ้น
– ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 59 ลงเหลือ 3.2% จากที่ประเมินไว้เมื่อ 3 เดือนก่อนที่ระดับ 3.3% ส่วนในปี 58 ได้ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงเหลือ 2.7% จากที่ประเมินไว้เมื่อเดือน ก.ค.ที่ 2.8%
– สำนักงบประมาณของสภาคองเกรส (CBO) ประเมินช่วงครึ่งแรกของเดือน พ.ย.นี้ กระทรวงการคลังสหรัฐจะขาดแคลนเงินสด หากไม่มีการปรับเพิ่มเพดานการกู้ยืม เมื่อพิจารณาจากยอดขาดดุลงบประมาณเดือน ก.ย.ที่สูงกว่าคาดการณ์ โดยก่อนหน้านี้ CBO คาดว่าเงินสดของกระทรวงการคลังสหรัฐจะหมดลงในช่วงกลางเดือน พ.ย.-ต้นเดือน ธ.ค.
– กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค.หดตัวลง 1.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งหดตัวรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้าว่าจะลดลงเพียง 0.5% โดยดัชนีผลผลิตของโรงงานและเหมืองแร่อยู่ที่ 96.3 เมื่อเทียบกับฐาน 100 ในปี 2553 และเทียบกับการประเมินเบื้องต้นที่ระดับ 97.0 เนื่องจากการผลิตเครื่องดื่ม เช่น ชา กาแฟ ปรับตัวลดลง ส่วนการขนส่งของภาคอุตสาหกรรมก็ลดลงด้วยเช่นกัน โดยร่วงลง 0.7% ขณะที่สินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น 0.3%
– นายเจฟฟรีย์ แล็คเกอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) สาขาริชมอนด์ เชื่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังคงมีความเหมาะสมอย่างมากในปัจจุบัน โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีการขยายตัวต่อเนื่องมากขึ้นบ่งชี้ถึงความจำเป็นในการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าเดิม
– ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีปิดเพิ่มขึ้นวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนเทขายพันธบัตร ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยลดลง หลังจากตลาดหุ้นโตเกียวปิดตลาดพุ่งขึ้นวันนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 340 ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.315% เพิ่มขึ้น 0.010% จากระดับปิดเมื่อวานนี้ ส่วนราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปี ส่งมอบเดือน ธ.ค.ลดลง 0.08 จุด แตะระดับ 148.32 ที่ตลาดหุ้นโอซาก้า
– สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงพุ่งขึ้น 110 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 10,970 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ หรือราคาเทียบเท่ากับ 1,188.18 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ เพิ่มขึ้น 11.91 ดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยนล่าสุด 1 ดอลลาร์สหรัฐ/7.75 ดอลลาร์ฮ่องกง
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์