พาราสาวะถี

ภาพที่ออกมามันชัดเจนว่ารัฐบาลสืบทอดอำนาจและเครือข่ายพรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.ลากตั้ง ปฏิเสธข้อเสนอของประชาชนที่ดำเนินการผ่านกระบวนการของรัฐสภา


ยังเป็นเครื่องหมายคำถามต่อไปสำหรับกรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เสนอโดยกลุ่มรีโซลูชั่น ประเด็นที่คนเป็นห่วงกันคือหลังจากนี้สถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นอย่างไร ในเมื่อภาพที่ออกมามันชัดเจนว่ารัฐบาลสืบทอดอำนาจและเครือข่ายหางเครื่องทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและส.ว.ลากตั้ง ปฏิเสธข้อเสนอของประชาชนที่ดำเนินการผ่านกระบวนการของรัฐสภา ความจริงสามารถที่จะรับหลักการในวาระแรกไปก่อนได้เพื่อลดแรงเสียดทาน

ไม่มีใครรู้ได้ว่าหลังจากนี้การขับเคลื่อนของภาคประชาชนจะเป็นอย่างไร อาจไม่มาบรรจบพบกันระหว่างม็อบที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่แสดงการไม่ยอมรับผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ล่ารายชื่อเพื่อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรืออาจจะจับมือกันเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายที่แม้จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ก็มีความตรงกันที่ไม่ยอมรับผลพวงอันเกิดจากการรัฐประหารและกลายร่างเป็นขบวนการสืบทอดอำนาจ

ขณะที่ความกังวลของส.ส.ฝ่ายค้านอย่าง สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย เชื่อว่าจะมีปัญหาตามมาแน่นอนจากการปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวแต่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง สำหรับฝ่ายค้านช่วยได้เท่านี้ ระดมคนเต็มที่เพื่ออภิปรายและโน้มน้าวสมาชิกรัฐสภา แต่เมื่อเนื้อหาถูกตีตก ตนได้คุยกับผู้เสนอร่างว่าอย่าท้อถอย ให้นำบทเรียนมาพิจารณา และในการประชุมรัฐสภาสมัยหน้าให้เสนอเนื้อหากลับเข้ามาใหม่ โดยอาจจะเสนอเนื้อหาแยกรายประเด็น แทนการเสนอเพียงฉบับเดียว

แต่ที่เป็นความเห็นได้อย่างมีหลักการสมกับที่เคยร่วมขบวนการม็อบโบกมือดักกวักมือเรียกคณะรัฐประหารนั่นก็คือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่มองว่าที่ประชุมรัฐสภาควรจะรับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไปก่อน เอาในแง่ของความชอบธรรมของการมีส่วนร่วมภาคประชาชน และเพื่อยืนยันว่ารัฐสภานี้เป็นรัฐสภาของประชาชน เป็นเวทีแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนทุกภาคส่วน ขอแค่เข้ามาโดยถูกต้อง

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เนาวรัตน์ให้ความเห็นก็ตรงกับคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่าฝ่ายที่ล้มร่างแก้ไขตั้งแต่วาระแรกควรจะไปใช้เวทีในการพิจารณาวาระสองและสาม ผ่านคณะกรรมาธิการที่จะตั้งขึ้น เพื่อถกกันให้เห็นถึงข้อด้อยของเนื้อหาที่นำเสนอ โดยเฉพาะประเด็นที่ให้ยกเลิกส.ว.แล้วเป็นสภาเดี่ยว ซึ่งหากมีการตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณาหลังรับหลักการ จะต้องใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบในเรื่องนี้ โดยที่เนาวรัตน์ย้ำว่าต้องมีส.ว. ด้วยเหตุผลความไม่พร้อมในทางการเมืองของส.ส. กล่าวคือพรรคการเมืองไม่เข้มแข็งและระบบการเลือกตั้งยังไม่โปร่งใสเท่าที่ควร

สองประเด็นหลักนี้เชื่อว่ามีคนที่เห็นต่างจากเนาวรัตน์อยู่มากทีเดียว เพราะความจริงรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจอย่างที่เห็น มุ่งที่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอและระบบเลือกตั้งก็ผ่านการพิสูจน์แล้วว่า นอกจากไม่มีความโปร่งใสแล้ว กระบวนการตีความขององค์กรที่ดูแลการเลือกตั้งโดยตรงก็เป็นปัญหา จนได้ส.ส.ปัดเศษและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นั่นเท่ากับว่ากลไกที่สร้างไว้และอุ้มให้เนาวรัตน์มาเป็นส.ว.ก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ระบบการเมืองอันหมายถึงนักเลือกตั้งและพรรคการเมืองอ่อนแอ

ประสากวีซีไรต์ความเห็นอันสวยหรูที่ว่าด้วยนิยามความหมายของประชาธิปไตย โดยระบุว่า การได้มาซึ่งอำนาจต้องชอบธรรม การทรงไว้ซึ่งอำนาจต้องชอบธรรม การใช้อำนาจต้องชอบธรรม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต้องชอบธรรม ประเด็นหลังถามว่าม็อบที่เนาวรัตน์เข้าร่วมใช้วิธีการอันชอบธรรมหรือไม่ ไม่ต้องถามถึงสิ่งที่เจ้าตัวมองว่าอำนาจมีไว้เพื่ออะไร กับคำตอบที่ว่าเพื่อนำมาบริหารจัดการในเรื่องที่เป็นประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นหลัก

เอาแค่ระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา ปุจฉาที่เกิดขึ้นคนส่วนใหญ่ได้รับผลประโยชน์จากการใช้อำนาจของคณะเผด็จการสืบทอดอำนาจหรือไม่ อำนาจเผด็จการสร้างประโยชน์สุขให้แก่ส่วนรวม ประชาชนมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนตามคำกล่าวหาหรือไม่ หลักฐานมันฟ้องอยู่ทนโท่มีเพียงคนแค่หยิบมือที่ได้รับประโยชน์มหาศาลจากการใช้อำนาจของเผด็จการจนเกิดวลีที่ว่า “รวยกระจุกจนกระจาย” และภาพที่ปรากฏในปัจจุบันมันก็ฟ้องเช่นนั้น ไม่ต้องอ้างว่าเกิดจากการระบาดของโควิด-19

ปัญหาการบริหารประเทศที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เกิดจากวิสัยทัศน์และความสามารถของผู้นำอย่างแท้จริง ล่าสุด ก็มีประเด็น ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศแอบบินไปเมียนมา พาภาคเอกชนไปด้วย กับข้ออ้างที่แถลงออกมาจากปากว่า เป็นการบินนำเอาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปให้กับเมียนมา โดยขนสิ่งของที่บริจาคจำนวน  17 ตันไปส่งมอบให้ และยังได้พบกับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำการปฏิวัติของเมียนมาอีกต่างหาก

มิหนำซ้ำ ยังมีการคุยโม้โอ้อวดว่า มีการพูดคุยกันในเรื่องทวิภาคีและเรื่องที่สำคัญ ซึ่งถือเป็นประโยชน์และมีสิ่งสร้างสรรค์ที่ออกมาจากการหารือ ถามว่าสร้างสรรค์สำหรับใคร ในเมื่อประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในอาเซียนต่างพากันบอยคอตและต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าอยู่ มันได้คุ้มเสียหรือไม่ ยิ่งมีการบอกว่าหนีบเอาภาคเอกชนไปด้วย สิ่งที่ชวนให้กังขาคือจะใช้โอกาสนี้เข้าไปทำมาหากินกันในขณะที่ชาติต่าง ๆ ในโลกพากันถอนการลงทุนออกมาอย่างนั้นหรือ

ไม่เพียงเท่านั้น หากสิ่งที่ รัศมิ์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูต ตั้งคำถามคือ เนื้อข่าวที่ปรากฏในสื่อของพม่าระบุด้วยว่าฝ่ายไทยไปบริจาควัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับพม่าด้วย ตรงนี้คนไทยควรมีสิทธิที่จะรู้ว่าเอาวัคซีนจำนวนเท่าใดและชนิดใดไปมอบให้ฝ่ายพม่า เพราะมันเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตของประชาชนไทย และเหตุผลว่าทำไมต้องเอาไปให้ทหารพม่า เพราะก็รู้กันอยู่ว่ารัฐบาลทหารพม่าที่เข่นฆ่าประชาชนของตัวเองอยู่ตลอดเวลา คงไม่น่าจะมีแก่ใจจะเอาวัคซีนเหล่านี้ไปช่วยเหลือชาวพม่า หรือต้องการประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า รัฐบาลไทยกับพม่าเป็นพวกสายพันธุ์เดียวกัน

Back to top button