คำตอบมีแล้ว..เหลือเพียง ‘วิธีทำ’

“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลออกมาคอนเฟิร์มเรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE กับ DTAC เป็นเรื่องปกติ


ตัวแทนจากรัฐบาล “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ออกมาคอนเฟิร์มเรื่องการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ว่า “จะผูกขาดอย่างไร มือถือมีการแข่งขันอยู่แล้วมีการกำกับโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติ ธุรกิจประเภทนี้มีหลายเจ้าไม่ได้อยู่แล้วเพราะลงทุนสูง มีการใช้คลื่นความถี่ มีการให้สัมปทาน บางประเทศมีเจ้าเดียวก็ได้”

พร้อมย้ำหัวหมุดอีกว่าเป็นเรื่องความถี่ถ้ามีหลาย ๆ เจ้าต่างคนต่างลงทุนอาจเป็นการสิ้นเปลืองก็ได้ ทำให้เกิดต้นทุนที่สูงขึ้นประชาชนก็จ่ายค่าบริการที่แพงขึ้น ขึ้นอยู่กับวางแผนธุรกิจ รัฐบาลคอยกำกับดูแลไม่ใช่อยู่ที่มีกี่เจ้าแล้วกระทบประชาชน ต้องดูภาพรวมหลังจากการทำธุรกิจไปแล้วต้องดูระยะยาว

ขณะที่ “ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” หนึ่งในกรรมการกสทช.ยอมรับว่า กสทช.ไม่สามารถห้ามการควบรวมกิจการทรูกับดีแทคได้ เพราะไม่ได้เป็นบริษัทผู้รับใบอนุญาต เพียงแต่ทั้ง 2 บริษัทคือบริษัทแม่และเป็นผู้ถือหุ้นของทั้งบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ที่กสทช.จะต้องดูและมีการกำหนดเงื่อนไขการให้บริการไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาดหรือเอาเปรียบผู้บริโภค

แต่หากลงมาถึงระดับล่าง…นั่นคือ “ดีทีเอ็น” และ “ทียูซี” ควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียว ในมุมผู้บริโภคจะมีตัวเลือกการใช้บริการน้อยลง กสทช.ต้องกำกับดูแลและวางเงื่อนไขในการให้บริการไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ

จากความเห็นทั้ง 2 หน่วยงานสรุปเอาแบบฟันธงก็คือ “การควบรวมกิจการ TRUE-DTAC ทำได้ แต่เรื่องผลกระทบต่อผู้บริโภคเดี๋ยวค่อยมาหาแนวทางกันอีกที”

ว่าไปแล้วดีล TRUE ควบ DTAC ถูกออกแบบมาให้เป็น 3 ลำดับชั้น โดยเริ่มจาก “ชั้นพ่อ” (เทเลนอร์และซีพีกรุ๊ป) ตามด้วย “ชั้นลูก” (ทรูและดีแทค) และ “ชั้นหลาน” (ดีทีเอ็นและทียูซี) และเมื่อดูจากข้อมูลที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ชัดเจนว่าเป็นดีลของ “ชั้นพ่อ” กับ “ชั้นลูก” เพียงเท่านั้น ส่วน “ชั้นหลาน” (ผู้ได้รับใบอนุญาต) ยังไม่ได้เกี่ยวนะ..!?

หรือนี่จะเป็นการออกแบบมา “เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจที่แท้จริง” หรือ “เพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎระเบียบ” ที่เกี่ยวข้องใด ๆ หรือไม่..เชื่อว่าเป็นเรื่องที่สังคมและผู้เกี่ยวข้องคงจะจินตนาการหรือรู้คำตอบกันดีอยู่แล้ว

ว่าแต่มีอีกหน่วยงานคือคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่มีศาสตราจารย์สกนธ์ วรัญญูวัฒนา เป็นประธานฯ ที่ต้องวินิจฉัยว่ากรณี TRUE ควบกิจการ DTAC ขัดหรือแย้งกับพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือไม่.? แต่หน่วยงานนี้ลึกลับซับซ้อนยากแท้หยั่งถึงจริง ๆ

แต่ทว่าระหว่างรอการปิดดีลใหญ่ดังกล่าว กลุ่มพนักงานของมือถือทั้ง 2 ค่ายหนีไม่พ้น “เกิดอาการจิตตก” กันอยู่ไม่น้อย เพราะหากมีการควบรวมกิจการเกิดขึ้น..สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ “การปรับลดต้นทุน” ที่ถือเป็นหนึ่งโจทย์ใหญ่ ที่ต้องดำเนินการเป็นลำดับต้น ๆ

เริ่มจากการยุบเลิกศูนย์บริการและปิดสาขาที่ทับซ้อนกันอยู่ เพื่อรวมศูนย์บริการและใช้เครือข่ายสาขา หรือศูนย์บริการร่วมกัน นั่นทำให้พนักงานหน้าเคาน์เตอร์และพนักงานออฟฟิศไม่พ้นต้องถูกโยกย้ายและมีการปรับออกในที่สุด.!!

และความเคลื่อนไหวของพนักงานทั้ง 2 ค่ายล่าสุดได้เริ่มมีการส่งข้อความส่งไลน์ พูดคุยกันเป็นการภายในถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้น และมีหลายคนแสดงความวิตกว่าอาจอยู่ในข่ายต้องถูกเลิกจ้างหรือตกงานตามมาหรือไม่..

บทเรียนดังกล่าว..เห็นได้จากกรณีการควบกิจการของสถาบันการเงิน ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ พบว่า พนักงานทั้งส่วนงานหน้าเคาน์เตอร์และพนักงานออฟฟิศของทั้งสองบริษัท ที่มีการควบรวมกิจการกัน หากมีการทำงานซ้ำซ้อนกันอยู่ จะมีความเสี่ยงถูกปรับลดก่อนเป็นอันดับแรก ตามด้วยการยุบเลิกสาขาหรือศูนย์บริการที่มีความซ้ำซ้อนกัน

โดยเฉพาะที่เห็นชัดเจนก็คือศูนย์บริการหรือสาขาที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าจะถูกยุบรวมกัน นั่นหมายถึงมีการเลิกจ้างพนักงานส่วนหนึ่งออกไป หรือโยกย้ายไปทำงานด้านอื่นแทน

เรื่องควบรวมกิจการทั้ง TRUE และ DTAC มีคำตอบอยู่แล้ว..เพียงแค่อยู่ระหว่างไล่ลำดับ “วิธีทำ” เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบดังกล่าวก็เท่านั้นเอง..!!!

Back to top button