CIMBT ชี้เศรษฐกิจไทยปี 65 โต 3.8% ส่งออก-ท่องเที่ยว-กำลังซื้อในปท.หนุน
CIMBT ชี้เศรษฐกิจไทยปี 65 โต 3.8% ส่งออก-ท่องเที่ยว-กำลังซื้อในปท.หนุน จับตากลางปี 65 บาทอาจอ่อนค่าแตะ 34 หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 65 จะขยายตัวได้ 3.8% ดีขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ที่ 3.2% โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวดีจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่ฟื้นตัว, สถานการณ์ท่องเที่ยวที่จะเริ่มกลับมา ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยราว 5.1 ล้านคน และกำลังซื้อจากภายในประเทศ ที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศ
ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าจะเฉลี่ยที่ 1.9% และอาจขึ้นไปถึง 2% ได้ในในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีนี้ แต่มองว่าราคาพลังงานโลกจะไม่เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในปีหน้ามากแล้ว ซึ่งทำให้คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตลอดทั้งปี 65 และอาจจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปี 66
“กนง.อาจเริ่มส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังระดับขนาดเศรษฐกิจไทยยืนได้เหนือปี 62 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% และมีการกระจายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 66” นายอมรเทพ ระบุ
ส่วนค่าเงินบาทมีโอกาสจะอ่อนค่าไปแตะที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ ได้ในช่วงกลางปีหน้า จากผลของการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินทุนไหลออก ประกอบกับไทยยังมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีการสื่อสารที่ชัดเจน ไม่น่าจะมีผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนโลกผันผวนแรง แต่เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นในสหรัฐ อาจดึงเงินให้ไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทยบ้าง แต่คาดว่าเงินบาทจะเริ่มกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 33.50 บาท/ดอลลาร์ในช่วงปลายปี หลังจากที่ดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกมาเกินดุลในช่วงครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ดี ในปี 65 ยังมีปัจจัยเสี่ยง 3 ด้านที่ต้องเฝ้าระวัง คือ การกลับมาระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่, ปัญหาสงครามการค้า และอัตราเงินเฟ้อ
นายอมรเทพ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 65 จะฟื้นตัวได้ดีกว่าปีนี้ต้องอาศัย 3 ปัจจัยสนับสนุน ดังนี้ ปัจจัยแรก คือการส่งออก ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4.7% จากการฟื้นตัวต่อเนื่องในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง ปิโตรเคมี และกลุ่มอาหารแปรรูป ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ ส่วนภาคการผลิตของไทยไม่ได้มีปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันรุนแรง สามารถบริหารจัดการแรงงานที่ติดเชื้อโควิดและคัดแยกแรงงานกลุ่มเสี่ยงไม่ให้กระทบแรงงานส่วนใหญ่ได้ดี กำลังการผลิตเร่งขึ้นได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งภาคอุปสงค์และอุปทานด้านการส่งออกของไทยในปีหน้า
ปัจจัยที่สอง คือการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยราว 5.1 ล้านคน ฟื้นตัวดีขึ้นหลังการเปิดประเทศ และลดข้อจำกัดด้านการกักตัวของนักท่องเที่ยว โดยคาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากสหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี ยุโรป ตะวันออกกลาง และกลุ่มอาเซียน ยกเว้นจีน เนื่องจากทางการจีนกังวลการแพร่ระบาดของโควิดในประเทศ จึงยังไม่น่าจะเปิดให้มีการท่องเที่ยวระหว่างประเทศมากนัก โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเพียง 9% จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.1 ล้านคน
ทั้งนี้ การเข้ามาของนักท่องเที่ยวช่วงครึ่งปีหลัง จะเร่งให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนและกระจายตัวได้ดีขึ้น ส่งผลดีต่อกลุ่มผู้ประกอบการอิสระ กลุ่มแรงงานด้านบริการ และผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์
ปัจจัยที่สาม คือกำลังซื้อระดับกลาง-บน ที่เริ่มเห็นสัญญาณการใช้จ่ายหลังเปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มคึกคัก คนเริ่มจับจ่ายใช้สอย และนำเงินออมออกมาใช้มากขึ้น กลุ่มที่จะฟื้นตัวได้เร็วได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหาร โรงแรมและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ โดยกลุ่มที่ฟื้นได้เร็วจะอยู่ในกลุ่มที่ผู้บริโภคสามารถลดค่าใช้จ่ายผ่านมาตรการภาครัฐที่คาดว่าจะยังคงมีต่อเนื่อง เช่น คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ และเราเที่ยวด้วยกัน
นายอมรเทพ ยังมองว่า แม้เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเติบโตได้จาก 3 ปัจจัยดังกล่าว แต่ก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะสะดุดจาก 3 ปัจจัยเสี่ยง คือ
ปัจจัยแรก คือการระบาดของโควิดรอบใหม่ ทั้งในไทยและประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่จะกระทบกำลังซื้อของคนในประเทศ การส่งออกและการท่องเที่ยว แม้ไทยและอีกหลายประเทศจะไม่ล็อกดาวน์ แต่จะกระทบความเชื่อมั่น การบริโภค และกระทบห่วงโซ่อุปทานให้ภาคการผลิตหยุดชะงักได้
ปัจจัยที่สอง คือสงครามการค้า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนยังคงดำเนินต่อไปในปี 65 ถ้าปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น บรรยากาศการค้าโลก รวมทั้งความต้องการสินค้าจากไทยไปจีนและอาเซียนจะได้รับผลกระทบดังเช่นในอดีต แม้ไทยจะยังสามารถส่งออกสินค้าไปสหรัฐได้ดี แต่ก็ไม่น่าจะชดเชยการส่งออกที่ลดลงในภูมิภาคได้
ปัจจัยที่สาม คือปัญหาเงินเฟ้อ หรือค่าครองชีพของคนไทยที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน อาหารสด และต้นทุนภาคการผลิตอื่นๆ แม้เงินเฟ้อปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.9% และราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยที่ 67 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่หากเกิดปัญหาอุปทานชะงักงันในภาคการผลิตในจีน หรือราคาวัตถุดิบอื่นๆ พุ่งขึ้นเร็ว อัตราเงินเฟ้อของไทยอาจเร่งขึ้นได้อีก ซึ่งราคาสินค้าที่สูงจะกระทบกำลังซื้อของคนรายได้น้อย ภาระหนี้จะเพิ่มขึ้น ทำให้คนลดการบริโภคลง และขาดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
“แนวทางแก้ปัญหาเงินเฟ้อ น่าจะอยู่ที่มาตรการทางการคลังด้วยการลดค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย แต่ไม่น่าจะเป็นการหว่านแหด้วยการลดราคาสินค้า หรือใช้เงินรัฐในการอุดหนุนทุกอย่าง เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจฟื้น กำลังซื้อคนระดับกลาง-บนดีขึ้น รัฐบาลน่าจะสามารถเยียวยาเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นได้” นายอมรเทพ ระบุ
สำหรับมาตรการทางการคลังในปีหน้าที่ภาครัฐควรดำเนินการ คือ “ประคอง-ฟื้นฟู” โดยส่วนแรก ประคองกำลังซื้อในประเทศ โดยเฉพาะระดับล่างและภาคเกษตรที่ยังมีปัญหาไม่ฟื้นตัว หรือยังไม่ได้รับอานิสงค์จากการเปิดประเทศเท่าที่ควร ซึ่งการออกมาตรการควรเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ส่วนที่สอง ฟื้นฟูปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้สามารถฟื้นตัวได้ในระยะยาว ทั้งการเร่งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ และร่งดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) ซึ่งภาครัฐควรต้องมีบทบาทมากกว่านี้ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว
นายอมรเทพ มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 65 เป็นปี “เสือหมอบรอกระโจน” แต่ยังต้องระวัง “เสือร้าย” หรือปัจจัยเสี่ยงทำเศรษฐกิจสะดุด นอกจากนี้ อยากให้นักลงทุนทำใจดีสู้เสือ เพื่อรับศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้านี้ ซึ่งการเลือกตั้ง ส.ส. และส.ว.ในเดือนพ.ย.ปีหน้าในสหรัฐ อาจมีความพยายามจากทั้งสองพรรคใหญ่ในการดึงคะแนนนิยมจากประชาชนด้วยการใช้นโยบายแข็งกร้าวต่อจีน ซึ่งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนมาตรการที่จีนจะใช้ตอบโต้สหรัฐและจัดระเบียบเศรษฐกิจในประเทศ อาจสร้างความผันผวนต่อตลาดเงินและตลาดทุนได้
พร้อมกับแนะนำนักลงทุนให้กระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปต่างประเทศ ทั้งสหรัฐและยุโรป จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่อง และการเปิดเมืองรับการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น รวมทั้งประเทศที่จะได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ เช่น จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม เพราะต่างสามารถควบคุมราคาสินค้าในประเทศได้ดี และธนาคารกลางมีความอดทนสูงต่อเงินเฟ้อ ซึ่งไม่น่าจะรีบดูดซับสภาพคล่อง อันเป็นผลดีต่อตลาดทุน
รวมทั้งตลาดทุนไทยที่จะกลับมาเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติอีกครั้ง หลังแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้นหลังเปิดเมือง และค่าเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (REIT) น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการพื้นที่ค้าปลีกและแหล่งกระจายสินค้า รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวดีขึ้น