TCAP-TTB เชื่อมธุรกิจเติมกำไร

หลังจากธนาคารธนชาต ซึ่งเป็นอภิชาตบุตรของ TCAP กับ TMB ควบรวมกันและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB...


หลังจากธนาคารธนชาต ซึ่งเป็นอภิชาตบุตรของบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP กับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ควบรวมกันสมบูรณ์แบบเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB…ก็เริ่มเห็นการขยับตัวของ TCAP และ TTB อีกครั้ง..!!

เริ่มตั้งแต่ TCAP ทยอยสร้างสัดส่วนการถือหุ้น TTB เพิ่ม จากเดิม 20.10% เป็น 24.99% ซึ่งถ้าดูครั้งที่ผ่านมาแบงก์ชาติก็ไม่ติดใจอะไร…เผลอ ๆ ตอนนี้ TTB อาจเรียบโรงเรียนทุนธนชาตไปแล้วก็ได้…ใครจะไปรู้…

ไม่จบแค่นั้น…เห็นจุดเชื่อมโยงระหว่าง TCAP และ TTB อีกครั้ง จากการขายหุ้นธุรกิจประกันและโบรกเกอร์ของกลุ่ม TCAP ให้กับ TTB

โอเค…แม้คนขายจะไม่ใช่ TCAP ซะทีเดียว แต่เป็น Scotia Netherlands Holding B.V. (BNS) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม The Bank of Nova Scotia ที่ขายหุ้น 10% ในบริษัท ธนชาต ประกันภัย จำกัด และหุ้น 10% ในบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) ให้กับ TTB รวมมูลค่า 1,605 ล้านบาท

นั่นเท่ากับว่า TTB ก็จะมาเป็นพันธมิตรคนใหม่ในธุรกิจประกันและโบรกเกอร์ของ TCAP..!!

โดยโครงสร้างการถือหุ้นธนชาต ประกันภัย จะเปลี๊ยนไป๋…เป็น TCAP ยังคงถือหุ้นเท่าเดิมที่ 51%  ส่วน BNS เหลือถือ 39% และ TTB ถือ 10% ส่วน บล.ธนชาต จะมี TCAP ถือหุ้นเท่าเดิมที่ 50.96% BNS ถือ 39% และ TTB ถือ 10%

กรณีนี้น่าสนใจ…ในมุมของ TCAP ซึ่งถือเป็นแม่บังเกิดเกล้าทั้ง ธนชาต ประกันภัย และบล.ธนชาต ก็ได้พันธมิตรที่เป็นแบงก์มาคอยแบ็คอัพธุรกิจ…

อย่างธุรกิจประกัน การมีแบงก์มาแบ็คอัพ ก็จะทำให้มีเสถียรภาพ มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ส่วนธุรกิจโบรกเกอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแบงก์คอยแบ็คอัพอยู่  ถ้ามีธุรกรรม เช่น อยากจะปล่อยมาร์จิ้นให้กับลูกค้า ก็ไปกู้จากแบงก์พันธมิตรมาปล่อย ก็ทำได้ง่ายขึ้น ไม่รวมธุรกรรมอื่น ๆ ที่จะตามมาในอนาคตอีกนะ

ส่วนมุมของ TTB…1) เป็นการเติมเต็มธุรกิจ จากเดิมที่ไม่เคยมีธุรกิจประกันกับธุรกิจโบรกเกอร์ ก็จะมีความครบเครื่องมากขึ้น และ 2) TTB อยู่ในตลาดดีเทล มีฐานลูกค้ารายย่อยอยู่แล้ว ต่อไปก็จะมีผลิตภัณฑ์ที่จะตอบโจทย์รายย่อยได้หลากหลายขึ้น

ขณะที่ถ้าไปดูผลการดำเนินงานของ ธนชาต ประกันภัย ก็ไม่เลวนะ กำไรยืนที่ระดับ 1,000 ล้านบาทมาตลอด จากรายได้รวมราว 7,000-8,000 ล้านบาท เพิ่งมาสะดุดปี 2563 นี่แหละ ที่ได้รับแรงกระแทกจากโควิด กำไรเหลือแค่ 744 ล้านบาท จากรายได้รวม 7,823 ล้านบาท

ส่วน บล.ธนชาต ก็ไม่ธรรมดา กำไรเฉลี่ยปีละ 400-600 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ราว 1,000-2,000 ล้านบาท

แหม๊…ทั้งสองบริษัทกำไรงามหยดย้อยซะขนาดนี้ ไม่แน่ต่อไป TTB อาจขอซื้อหุ้นเพิ่มอีกก็ได้…(แว่ว ๆ มาว่า ที่จริงกลุ่มทุนต่างชาติอยากจะขายหุ้น เพื่อหอบเงินกลับบ้านเกิดตั้งแต่ปีมะโว้แล้วนะ…)

จึงไม่น่าแปลกใจ ที่นักวิเคราะห์หลายสำนักมองบวกต่อดีลนี้ คาดจะช่วยดันกำไรของ TTB ปี 2565 เติบโตเด่นสุดในกลุ่มแบงก์ ทะลุ 11,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

แต่เชื่อเถอะว่าดีลนี้น่าจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงธุรกิจของ TCAP  กับ TTB เท่านั้น…ในอนาคตน่าจะเห็นอะไรที่มากกว่านี้…

ไม่แน่ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจถูกออกแบบมาตั้งแต่ต้นแล้วก็ได้นะ..!?

…อิ อิ อิ…

Back to top button