MHC เปิดตัว “รพ.มะเร็งชีวามิตรา” บริการฉายแสงรักษามะเร็งข้าราชการ
MHC ขานรับนโยบายลดความแออัด เปิดตัว “รพ.มะเร็งชีวามิตรา” ให้บริการฉายแสงรักษามะเร็งข้าราชการ ไม่สำรองจ่าย-ไม่รอคิวนาน
โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียง เหนือ ในเครือ บริษัท โมเดอร์นฟอร์ม เฮลท์แอนด์แคร์ จำกัด (มหาชน) MHC เปิดให้บริการฉายแสงรักษามะเร็งข้าราชการสังกัดกรมบัญชีกลาง ครอบคลุมกว่า 2.11 ล้าน ครอบครัว โดยไม่สำรองจ่าย ไม่มีส่วนเกิน และไม่รอคิวนาน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขานรับนโยบายลดความแออัดของปริมาณผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐฯ เผยช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา มีโรคอุบัติใหม่เพิ่มขึ้นอย่าง “โควิด-19” ทำให้ปริมาณผู้ป่วยเข้ารับบริการในโรงพยาบาลรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ส่งผลกระทบกับผู้ป่วยจากโรคอื่น ๆ ที่ต้องรักษาต่อเนื่องรวมทั้งผู้ป่วยมะเร็ง การให้บริการสำหรับผู้ป่วยดังกล่าวด้วยเครื่องมือทันสมัย พร้อมทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ นอกจากช่วยลดจำนวนปริมาณผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐฯ แล้ว ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยในการเข้ารับการรักษาตามกำหนดเวลาของแผนการรักษา ลดความเสี่ยงจากการรอคิวในที่แออัด ในขณะที่ไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการใช้บริการแต่อย่างใด
ด้าน นายแพทย์ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเครือ บริษัท โมเดอร์นฟอร์ม เฮลท์แอนด์แคร์ จำกัด (มหาชน) “MHC” เปิดเผยว่า โรงพยาบาลได้ร่วมตอบรับทำสัญญากับกรมบัญชีกลาง รองรับการบริการฉายแสงรักษามะเร็งให้กับกลุ่มผู้ป่วยสิทธิการรักษาตามสวัสดิการข้าราชการที่มีจำนวน 2.11 ล้าน ครอบครัว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาด้านปริมาณผู้ป่วย ความแออัด และลดระยะเวลาการรอรับบริการในโรงพยาบาลรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อขั้นตอนการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง
โดยเฉพาะโรคมะเร็งทุกระยะ เมื่อรู้เร็ว ได้รับรักษาเร็ว ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาได้มากกว่า ทั้งยังช่วยให้คุณภาพการใช้ชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นอีกด้วย โดยโรงพยาบาลมีความพร้อมทั้งเทคโนโลยีเครืองมือทางการแพทย์ ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง รวมไปถึงบรรยากาศที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ
“สถิติคนไทยเข้าใช้บริการจากโรงพยาบาลรัฐฯ ทั้งรูปแบบการเข้ารับบริการแบบทั่วไป และด้วยสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งปี 2562 สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบผู้เข้ารับบริการในลักษณะผู้ป่วยนอกจำนวน 148 ล้าน ครั้งในโรงพยาบาลรัฐฯ 896 แห่งทั่วประเทศ ขณะเดียวกันช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาที่ทั่วโลก
รวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่อย่าง “โควิด-19” ส่งผลให้ปริมาณผู้ป่วยเข้ารับบริการในโรงพยาบาลรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และด้วยปริมาณผู้ป่วยที่มากขึ้นในแต่ละวัน ที่สวนทางกับจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือ และเตียงรองรับผู้ป่วยซึ่งมีจำนวนจำกัด ส่งผลให้ปริมาณผู้ป่วยจำนวนมากต้องรอรับการรักษาหรือเข้าไม่ถึงการรักษา มีความแออัดในโรงพยาบาลรัฐฯ ที่สำคัญคือ การรักษาหลายโรค รวมทั้งการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ไม่สามารถรอเวลาได้ ทั้งยังต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องและตามระยะเวลาที่เหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อผลของการรักษาที่ดีที่สุด” นายแพทย์ธนุตม์ กล่าว
สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการโดยใช้สิทธิการรักษาตามสวัสดิการข้าราชการ ที่โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา ผู้ป่วยต้องมีผลวินิจฉัยของแพทย์จากโรงพยาบาลต้นทาง ว่าเป็นมะเร็งและต้องรับการรักษาด้วยการฉายรังสี โดยติดต่อศูนย์ประสานงานส่งตัวมายัง รพ.มะเร็งชีวามิตรา พร้อมเอกสาร ประกอบด้วย 1. ใบส่งตัว 2. ประวัติการรักษา 3. ผลตรวจชิ้นเนื้อ เพื่อตรวจสอบพร้อมส่งข้อมูล วัน เวลา ให้ศูนย์ประสานงานส่งตัว เพื่อทางโรงพยาบาลต้นทางทำการแจ้งผู้ป่วย และออกเอกสารใบส่งตัวมายัง รพ.มะเร็งชีวามิตรา ตามวัน เวลานัดหมาย และดำเนินการรักษาในทันที เพื่อการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่รวดเร็วและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นอกจากได้เข้ารับการรักษามะเร็งด้วยการฉายแสงทันทีแบบไม่ต้องรอคิวนานแล้ว ผู้ป่วยสิทธิการรักษาตามสวัสดิการข้าราชการสังกัดกรมบัญชีกลางยังสามารถใช้สิทธิการรักษา และการเข้ารับการฉายแสงดังกล่าว แบบไม่ต้องเตรียมเงินสำรองจ่าย และไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนเกินใด ๆ โดยผู้มีสิทธิสวัสดิการตามเงื่อนไขกรมบัญชีกลางสามารถเข้ารับบริการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริการฉายแสงรักษามะเร็งให้กับกลุ่มผู้ป่วยสิทธิการรักษาตามสวัสดิการข้าราชการ สังกัดกรมบัญชีกลาง www.chiwamitra.com
สำหรับโรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตราเป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ในตัวเมืองจังหวัดอุบลราชธานี “ชีวามิตรา” แปลว่าเป็นมิตรกับทุกชีวิต ยึดหลักดำเนินงานด้วยมิตรภาพ ผ่านการมอบสิ่งที่ดีที่สุดในการรักษา เพื่อสร้างคุณค่าชีวิตที่ดีกว่าเดิม พร้อมปรัชญาการดำเนินงานที่เอาใจใส่ เป็นมิตรกับทุกชีวิตอย่างแท้จริง ดังนิยาม “กาย…ต้องตรงจุด” “ใจ…ต้องดูแล” ภายใต้แนวคิด “NEW POSSIBILITY OF CANCER TREATMENT” ทุกโอกาสคือความเป็นไปได้ในการรักษา