พาราสาวะถี
การที่ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ คาดหมายว่าไทยน่าจะเริ่มพบผู้ป่วยโอมิครอนมากขึ้นช่วงหลังปีใหม่ ความจริงเรื่องนี้เป็นบทบาทศบค. ที่ต้องชี้แจง
ไม่แน่ใจว่าเป็นการส่งสัญญาณล่วงหน้าด้วยการเปลี่ยนตัวผู้เล่นเพื่อให้เกิดความตื่นตระหนกหรือไม่ กับการที่ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ คาดหมายว่าไทยน่าจะเริ่มพบผู้ป่วยโอมิครอนมากขึ้นช่วงหลังปีใหม่ หรือในกลางเดือนมกราคมปีหน้า โดยที่มีการออกตัวก่อนว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ทั้งนี้ ความจริงเรื่องนี้เป็นบทบาทหน้าที่ที่ต้องสื่อสารให้ชัดเจนของกรมควบคุมโรคหรือไม่ก็ศบค. ที่ต้องแถลงชี้แจงในภาพรวมให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
จะอ้างว่าขณะนี้ข้อมูลยังไม่นิ่งคงไม่ถูกต้องนัก เพราะวันก่อนทางกรมควบคุมโรคเองก็แสดงความเป็นห่วงเรื่องการรับนักท่องเที่ยวแบบไม่ต้องกักตัวอาจจะเป็นเหตุทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดโอมิครอนได้ ที่เรียกร้องมาตลอดคือให้รัฐบาลโดยศบค. ประเมินและประกาศให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าไว้เลยว่า ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดของโอมิครอนในประเทศไทยนั้นมีมากน้อยขนาดไหน ท่ามกลางการปฏิบัติตามมาตรการที่ภาครัฐร้องขอจากประชาชนอย่างเคร่งครัด
อย่าปล่อยให้เหมือนการระบาดในระลอกล่าสุด ที่มีการแถลงแค่ไม่กี่วันว่าพบสายพันธุ์เดลต้ากำลังระบาดหนักในต่างประเทศ และอ้างว่ามีการตรวจพบแล้วในประเทศไทยและกำลังเฝ้าจับตามอง แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการระบาดอย่างรุนแรง จนถึงขั้นที่ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล เมื่อมีบทเรียนแล้วก็ต้องปรับปรุงแก้ไข จะใช้ข้ออ้างว่าไม่น่ากังวล เพราะเกรงจะกระทบต่อการเปิดประเทศเวลานี้ ต้องถามกันว่าจะเลือกความปลอดภัยของประชาชนหรืออยากได้เม็ดเงินจากต่างชาติเพื่อแก้ปัญหารัฐบาลถังแตก
จนถึงนาทีนี้จากที่บอกว่าโอมิครอนไม่ได้ทำให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรง แต่ปรากฏข่าวและการยอมรับจาก บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษว่า มีผู้ป่วยเสียชีวิตรายแรกจากโอมิครอน และถือเป็นรายแรกของโลกด้วย ท่ามกลางการถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าผู้นำอังกฤษไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนว่าผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวมีปัญหาสุขภาพใด ๆ ที่ทำให้เป็นกลุ่มเปราะบางจากโควิดหรือไม่ และโอมิครอนเป็นสาเหตุหลัก หรือสาเหตุรองที่ทำให้เสียชีวิต
ที่อังกฤษมีผู้เสียชีวิตรายแรกจากโควิดสายพันธุ์ดังกล่าว ที่จีนซึ่งคุมเข้มเป็นอย่างมากก็พบผู้ป่วยโควิดโอมิครอนรายแรกของประเทศเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมานั่งรอข้อมูลที่ยืนยันความรุนแรงหรือการแพร่กระจายของเชื้อว่าเร็วหรือไม่ แต่ควรเคร่งครัดและเร่งตรวจสอบนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วงระยะเวลาสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ว่ามีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อกลายพันธุ์มาระบาดในประเทศหรือไม่
ไม่ต้องห่วงประชาชนในประเทศเรื่องการย่อหย่อนต่อการระมัดระวังตัวเอง หากจะมีก็ถือว่าเป็นจำนวนน้อยมาก หากเทียบกับคนส่วนใหญ่ที่ป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ เมื่อโจทย์ที่รู้กันอยู่แล้วว่าโอมิครอนติดง่ายและแพร่เร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า จึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมารอจังหวะอะไรทั้งสิ้น เป็นสิ่งจำเป็นเสียด้วยซ้ำหากต้องมีการทบทวนมาตรการในการผ่อนคลายผ่อนปรนใด ๆ ที่ได้ประกาศไปก่อนหน้า ไม่ต้องกลัวเสียหน้าเพราะถ้าเสียหายมันจะย่อยยับกันทั้งหมด
เป็นอันจบข่าวสำหรับพรรคสืบทอดอำนาจที่คิดจะทาบทาม “ผู้ว่าฯ หมูป่า” ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร เป็นตัวแทนของพรรคลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อเจ้าตัวแถลงชัดเจนว่า ตนตั้งใจจะรับราชการจนเกษียณอายุ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีทางเลือกที่จะให้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หารือร่วมกับกรรมการบริหารพรรคว่า จะส่งคนลงสมัครหรือไม่ ถ้าส่งจะเป็นใคร ในเมื่อเสียงส่วนใหญ่ในพรรคปฏิเสธ พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ คนปัจจุบันที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจส่งเข้าประกวด
เมื่อยึดตามคำประกาศของท่านผู้นำและยืนยันซ้ำโดย วิษณุ เครืองาม จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ภายในกลางปีหน้า ช่วงเวลาจากนี้ไปไม่เกินกลางเดือนมกราคม ทุกพรรคที่จะส่งคนแข่งขันต้องได้ตัว เพื่อเตรียมทำนโยบายขายฝันให้กับคนกรุงเทพฯ เหมือนอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เปิดตัวไปเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ออกตัวก่อนใครเพื่อน และแสดงเจตนารมณ์เด่นชัดขอลงสมัครในนามอิสระ เพราะเข้าใจดีว่าถ้าสังกัดพรรคโอกาสได้รับเลือกมีน้อยกว่ามาก
ส่วนเหตุผลที่ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครของพรรคเก่าแก่ ยกมาอ้างว่าไม่สมัครในนามอิสระเนื่องจากการทำงานของผู้ว่าฯ กทม.ต้องมีทีมคอยซัพพอร์ต มีส.ก.เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งพรรคที่ตัวเองเลือกมีพร้อมในเรื่องนี้ ถือเป็นการประเมินที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง เพราะความจริงแล้วงานของผู้ว่าฯ กทม.ต้องอาศัยแนวความคิด นโยบาย การกล้าตัดสินใจและลงมือทำ โดยบรรดาส.ก.ทั้งหลายไม่ว่าจะมาจากพรรคใด สุดท้ายแล้วเมื่อเข้าไปมีตำแหน่ง ต่างก็จะพากันวิ่งเข้าหาฝ่ายบริหารทั้งนั้น
เหมือนที่มีการพูดกันของคนในสภาเสาชิงช้า เมื่อเข้ามาทำงานแล้วไม่มีคำว่าพรรคมีแต่พวก ซึ่งก็ไม่ต่างจากสภาใหญ่แต่อย่างใด เป็นเรื่องของการบริหารผลประโยชน์ ยิ่งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะต้องบริหารงบประมาณเองปีละหลายหมื่นล้านบาท คนที่เข้าไปทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติขององค์กรที่มีการปกครองลักษณะพิเศษเช่นนี้อาจมีพรรคสังกัดแต่เมื่อต้องตัดสินใจหน้างาน ทุกอย่างอยู่ที่การประสานเพื่อทำให้เกิดการต่อยอดสร้างคะแนนนิยมสำหรับตัวเองในพื้นที่
ขณะที่พรรคสืบทอดอำนาจยังไม่สะเด็ดน้ำว่าจะส่งคนลงสมัครหรือจะได้ใครเป็นตัวแทนหรือไม่ พรรคเพื่อไทยยืนยันชัดเจนแล้วว่าจะไม่ส่งผู้สมัคร แต่ก็ยังออกลูกกั๊กว่าพร้อมสนับสนุนตัวแทนจากฝ่ายประชาธิปไตย ที่ก็ไม่รู้ว่าหมายถึงใคร เนื่องจากท่าทีที่แสดงออกรวมถึงบทสัมภาษณ์ของ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคก็มีแนวโน้มไปในทิศทางที่จะไม่หนุนชัชชาติ นั่นเท่ากับว่ามีโอกาสที่จะไปหนุนตัวแทนจากพรรคก้าวไกลที่มีฐานเสียงหลักเป็นคนรุ่นใหม่ แต่คนกลุ่มนี้ที่เชียร์ชัชชาติก็มีจำนวนไม่น้อย
เท่ากับว่ายกแรกของการเลือกผู้ว่าฯ กทม. ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลยังมองไม่ออกว่าฝั่งไหนจะกุมความได้เปรียบ หากมีตัวแทนของแต่ละฝ่ายเกิน 1 คน ก็จะเป็นการแย่งคะแนนกันเอง ส่วนชัชชาติถ้าไม่มีแคนดิเดตระดับบิ๊กเนมมาเป็นคู่แข่ง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้าวิน แต่การเลือกตั้งสนามเมืองหลวงว่ากันว่าต้องลุ้นกันจนวินาทีสุดท้าย เพราะคนกรุงเทพฯ มักจะหวั่นไหวต่อข่าวสารกันทุกวินาที ทีเด็ดอยู่ที่คืนหมาหอนมักจะมีการปล่อยของใช้วิชามารที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นทุกครั้ง ทั้งแอบอ้างและปล่อยข่าวทำลายคู่แข่ง