ระทึก! โหวต 7 อรหันต์ “กสทช.” ผ่าน “วุฒิสภา” พรุ่งนี้ หลังพบบางรายขาดคุณสมบัติ
จับตา "วุฒิสภา" ประชุมลับ โหวต 7 รายชื่อ "กสทช." ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ หลังกมธ.พบบางรายขาดคุณสมบัติ หากมีมติให้ความเห็นชอบผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น กสทช.ไม่ถึง 5 ราย จากการเสนอชื่อ 7 ราย ก็จะยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จนกว่าที่ประชุมวุฒิสภาจะเห็นชอบกรรมการ กสทช.ได้ไม่น้อยกว่า 5 ราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 20 ธ.ค.2564 จะมีวาระสำคัญในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรรมการ กสทช.) ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2564
สำหรับภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน ส.ว. เป็นประธาน กมธ.ได้จัดส่งรายงานผลการตรวจสอบประวัติฯให้วุฒิสภาแล้ว
โดยว่าที่ กสทช. จำนวน 7 คน ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกิจการกระจายเสียง), ศ.พิรงรอง รามสูต (ด้านกิจการโทรทัศน์), นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ (ด้านกิจการโทรคมนาคม), ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค), นายต่อพงศ์ เสลานนท์ (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน), ร.ท.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ (ด้านอื่น ๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ก) ด้านกฎหมาย และ รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ข) ด้านเศรษฐศาสตร์)
สำหรับรายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือลงคะแนนคัดเลือก กสทช.ชุดใหม่ ในชั้นวุฒิสภาจะจัดประชุมลับ เนื่องจากรายงานการตรวจสอบประวัติฯนั้นเป็นรายงานลับ และเพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการลงมติของ ส.ว.ด้วย
อีกทั้งมีรายงานเบื้องต้นจากที่ประชุม กมธ.ตรวจสอบประวัติฯว่า มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กสทช.หลายรายมีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง กสทช. รวมทั้งมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่ง กมธ.ตรวจสอบประวัติฯได้ให้รายละเอียดเป็นข้อสังเกตไว้ในรายงานที่นำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภา
อาทิ นายต่อพงศ์ ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาประจำ กสทช. (พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.) เข้าข่ายขัดบทบัญญัติ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 7 ข.ว่าด้วยคุณสมบัติต้องห้าม ในข้อ (12) ระบุว่า “เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมในระยะเวลา 1 ปีก่อนได้รับการคัดเลือก”
นอกจากนี้ นายต่อพงศ์ ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา หลังสูญเสียการมองเห็นจากอุบัติเหตุ เมื่อปี 2535 ยังถูกตั้งข้อสังเกตถึงอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากภารกิจของ กสทช.เกี่ยวข้องกับเอกสารจำนวนมาก และสำนักงาน กสทช.เอง มิได้มีหน่วยงานเฉพาะในการแปลเอกสารดังกล่าวเป็นอักษรเบลล์ จึงอาจทำให้นายต่อพงศ์ทำหน้าที่ไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ
ส่วนข้อกังวลว่าอาจถูกมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิของผู้พิการนั้น ได้มีการหยิบยกคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญที่ 16/2545 วินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งที่มีลักษณะพิเศษ โดยมีคำ วินิจฉัยในเรื่องที่ผู้ร้องซึ่งมีสภาพร่างกายเป็นโปลิโอ ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ไม่รับสมัครผู้ร้องที่สมัครเพื่อสอบเข้าดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาไว้ว่า “….การที่หน่วยงานใดจะรับบุคคลเข้าทำหน้าที่ในตำแหน่งใด ย่อมต้อง พิจารณาถึงความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่นั้นด้วย … ซึ่งการรับสมัครสอบคัดเลือกนอกจากจะพิจารณาถึงความรู้ ความสามารถแล้ว ยังต้องพิจารณา สุขภาพของร่างกาย และจิตใจว่ามีความสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้” ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นกรอบปฏิบัติที่มีผลผูกพันทุกองค์กรตามมาตรา 211 แห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้
ขณะที่ ร.ท.ธนกฤษฏ์ มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติที่ระบุในใบสมัครเข้ารับการสรรหาว่าเป็น รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งตรงตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 14/2 (2) ที่ระบุว่า “ผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหาเพื่อเป็นกรรมการต้องมี ลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (2) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือน พนักงานในหน่วยงานอื่นของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป หรือเป็นหรือเคยเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองหัวหน้าของหน่วยงานอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลหรือรัฐวิสาหกิจหรือเทียบเท่า”
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ตำแหน่งรองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ของ ร.ท.ธนกฤษฏ์ อาจไม่สามารถนำมาใช้อ้างเป็นลักษณะตาม 14/2 (2) ได้ เนื่องจากมีข้อเท็จจริงว่า ร.ท.ธนกฤษฏ์ ได้ลาออกจากการดำรงตำแหน่งผู้ชำนาญการ 8 การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2564 และรับตำแหน่งที่รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2564 ก่อนมาสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช. เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2564 เท่ากับว่า ร.ท.ธนกฤษฏ์ ดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพียง 12 วันก่อนสมัครรับการสรรหาเป็น กสทช.
อีกทั้งยังมีข้อมูลด้วยว่า ร.ท.ธนกฤษฏ์ มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มิได้เทียบเท่ารองผู้จัดการฯ เนื่องจากข้อบังคับคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มิได้กำหนดตำแหน่งผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงดังกล่าวไว้หรือให้เทียบเท่ารองผู้จัดการฯ และตำแหน่งรองผู้จัดการกองทุนฯ เป็นตำแหน่งระดับสูงขององค์กร จึงต้องเป็นอำนาจของคณะกรรมการกองทุนฯในการ แต่งตั้ง แต่หลักฐานที่ ร.ท.ธนกฤษฏ์ นำมาแสดงกลับไม่มีสำเนาคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นรองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
อนึ่งจากการตรวจสอบการดำรงตำแหน่งในหน่วยงานอื่นของรัฐของ ร.ท.ธนกฤษฏ์ ก็พบว่า ตำแหน่งที่เคยรับการแต่งตั้งในส่วนของข้าราชการพลเรือนสูงสุดคือ ชำนาญการพิเศษ และในส่วนของพนักงานรัฐวิสาหกิจคือ ชำนาญการ ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการในองค์กรต่างๆ ก็มิได้เป็นรองหัวหน้าหน่วยงานอื่นของรัฐ และไม่มีประสบการณ์การบริหารในระดับเดียวกันมาก่อน รวมถึง ร.ท.ธนกฤษฎ์ ที่เป็นอดีตนักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ ยังพยายามอ้างอิงตำแหน่งตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ทั้งที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งจริงในการรับราชการกระทรวงพาณิชย์ จึงอาจเข้าข่ายเจตนาที่จะสร้างคุณลักษณะที่ไม่ชอบ และประสงค์จะหลอกลวงคณะกรรมการสรรหาฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนของ รศ.ศุภัช นั้น กมธ.ตรวจสอบประวัติฯได้ทำหนังสือไปยังสำนักงาน กสทช.เพื่อสอบถามถึงโครงการศึกษาวิจัยที่สำนักงาน กสทช. ทำสัญญาว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ศุภัช เป็นคู่สัญญาหรือเป็นที่ปรึกษา และผู้มีอำนาจลงนามในสัญญา พบว่า สำนักงาน กสทช.ได้ทำสัญญาว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ รศ.ศุภัช เป็นคู่สัญญาหรือเป็นที่ปรึกษา จำนวนมากต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน มูลค่านับร้อยล้านบาทด้วย ซึ่งเข้าข่ายขัดบทบัญญัติ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 7 ข.ว่าด้วยคุณสมบัติต้องห้าม ในข้อ (12) เช่นกัน
โดยโครงการล่าสุดได้แก่ โครงการศึกษาผลกระทบของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจไทยภายหลังการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอล ซึ่ง รศ.ดร.ศุภัช เป็นหัวหน้าโครงการ ได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2564 และมีการส่งหนังสือขอเบิกเงินงวดสุดท้ายในวันที่ 25 มิ.ย.2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มกระบวนการสรรหา กสทช.แล้ว รศ.ศุภัช ในฐานะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่ปรึกษาโครงการงานที่ปรึกษาและงานวิจัยแก่สำนักงาน กสทช. และเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับสำนักงาน กสทช. จึงอาจเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับสำนักงาน กสทช.
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ของ รศ.ศุภัชช กับ นายวิษณุ วรัญญู กรรมการและเลขานุการและโฆษกคณะกรรมการสรรหา กสทช. ที่มีความสนิทสนมกันเมื่อครั้ง นายวิษณุ ดำรงตำแหน่ง รองศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่นเดียวกับ รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย อาจทำให้เกิดความไม่เป็นกลางและเอื้อประโยชน์ในกระบวนการสรรหาได้ ทั้งนี้มีรายงานว่าได้มีข้อร้องเรียนถึงคณะกรรมการสรรหาถึงคุณสมบัติต้องห้ามของ รศ.ศุภัช แต่กลับไม่มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา ซึ่งนายวิษณุปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการสรรหา
อีกทั้งยังมีในส่วนของนายกิตติศักดิ์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด เคยเป็นที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคมให้กับ บริษัท เพลย์เวิร์ค จํากัด ซึ่งกำลังฟ้องร้อง กสทช. ต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีการเรียกคืนคลื่น 2600 MHz อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่า นายกิตติศักดิ์ เป็นที่ปรึกษาบริษัท เพลย์เวิร์ค จํากัด ช่วงปี 2558-2559 หรือพ้นตำแหน่งมากว่า 5 ปีแล้ว
ทั้งนี้ข้อสังเกตของ กมธ.ตรวจสอบประวัติฯ เป็นเพียงข้อมูลประกอบการพิจารณาของ ส.ว.เท่านั้น หากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อฯ ได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในวุฒิสภา ก็จะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการ กสทช. ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภา จะเข้ารับการสรรหาครั้งใหม่ไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มาตรา 16 ที่บัญญัติว่า “เมื่อคณะกรรมการสรรหาดำเนินการคัดเลือกได้บุคคลใดแล้ว ให้เสนอรายชื่อ ไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยผู้ได้รับเลือกต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
สำหรับในกรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการคัดเลือกรายใด ให้ดำเนินการสรรหาบุคคลใหม่ แทนผู้นั้น แล้วเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยผู้ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา จะเข้ารับการสรรหาในครั้งใหม่ไม่ได้”
อย่างไรก็ตามหากในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ ประชุมวุฒิสภาลงมติให้ความเห็นชอบผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น กสทช.ไม่ถึง 5 ราย จากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมด 7 ราย ก็จะทำให้กรรมการ กสทช.ที่ได้รับเลือก ก็จะยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จนกว่าที่ประชุมวุฒิสภาจะเห็นชอบกรรมการ กสทช.ได้ไม่น้อยกว่า 5 ราย