GUNKUL มาไกล…เพื่อไปต่อ.!?

กลับมาแตะ 5 บาทอีกแล้วคร๊าบท่าน..!! สำหรับราคา GUNKUL หลังจากก่อนหน้านี้ราคาทรุดไปต่ำ 5 บาท เป็นแรมเดือน เกรงว่าราคาจะถลำลึกไปมากกว่านี้...


กลับมาแตะ 5 บาทอีกแล้วคร๊าบท่าน..!! สำหรับราคาหุ้นบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL หลังจากก่อนหน้านี้ราคาทรุดไปต่ำ 5 บาท เป็นแรมเดือน ทำเอาสาวกหุ้น GUNKUL ขวัญหนีดีฝ่อ เกรงว่าราคาจะถลำลึกไปมากกว่านี้…

แต่ล่าสุดกลับมายืนเหนือ 5 บาทได้อีกครั้ง…ก็โล่งอกไปตาม ๆ กัน..!!

ว่าแต่ GUNKUL มีดีอะไรนะ..? พักหลัง ๆ ถึงเปล่งรัศมีเตะตาทั้งขาใหญ่และรายย่อยให้เข้ามาเก็งกำไรกันคึกคัก…

ถ้าย้อนไปดูแบ็คกราวด์ของ GUNKUL เป็นบริษัทที่ก่อร่างสร้างตัวมาจากเทรดดิ้ง โดยเข้าตลาดหลักทรัพย์มาเมื่อ 11 ปีที่แล้ว แต่คนจะรู้จัก GUNKUL จากโซลาร์ฟาร์ม ต่อมาก็ขยายไปสู่วินด์ฟาร์ม ทำให้มีทั้งแดดและลม…ก็เติบโตต่อเนื่อง มีโครงการใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ…

ในระหว่างนี้ GUNKUL มีธุรกิจ 2 ขาด้วยกัน…ขาแรก ธุรกิจเทรดดิ้ง และอีกขา ธุรกิจโรงไฟฟ้า

ฟาก “กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์” ในฐานะผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ GUNKUL ก็สร้างธุรกิจครอบครัวขึ้นมาใหม่ นั่นคือ ธุรกิจรับเหมา (EPC) งานวางระบบ งานเดินท่อร้อยสาย ส่วนหนึ่งก็รับงานจาก GUNKUL นั่นแหละ ทำควบคู่กันไป

จากนั้น GUNKUL ก็อยากรุกธุรกิจ EPC เต็มตัว ก็เลยซื้อ EPC มาจากผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็ทำให้มีขาที่ 3 เพิ่มขึ้นมา…ขาแรก เทรดดิ้ง  ก็ต่อยอดไปกับงานเอาสายไฟฟ้าลงดิน

ส่วนขาที่สอง…ธุรกิจ EPC ก็เป็นดาวรุ่ง เป็นงานแห่งอนาคต มูลค่าเป็นแสนล้าน ซึ่ง GUNKUL ได้ส่วนแบ่งมาไม่น้อย มีโอกาสเข้ามาต่อเนื่อง

และขาที่สาม…ธุรกิจไฟฟ้า แม้ในประเทศจะไม่มี PPA แล้ว แต่ต่อยอดไปต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เวียดนาม

ขณะที่ในรอบปีที่ผ่านมา GUNKUL เริ่มขยับอีกครั้ง จากเดิมเกี่ยวข้องกับเทรดดิ้ง พลังงานทางเลือก ก็เริ่มไปทำกัญชง–กัญชา โดยใช้ที่ดินใต้กังหันลมที่มีเกือบ 5 พันไร่ มาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นโรงเรือนปลูกกัญชง…เป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่ธุรกิจสายเขียวของ GUNKUL..!!

แต่ไฮไลท์อยู่ที่การซุ่มซื้อบริษัทที่มีไลเซนส์ในการผลิตกัญชง-กัญชาอยู่แล้ว เป็นการรุกเข้าสู่ธุรกิจกัญชง–กัญชาอย่างเต็มรูปแบบผ่านบริษัท ทีเอชซีจี กรุ๊ป จำกัด หรือ THCG ควบคู่กับที่ตัวเองทำโรงเรือนปลูก

ก็ถือว่า GUNKUL มาไกลทีเดียว…แต่ยังไปต่อได้อีก ล่าสุดไปจับมือกับบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART และบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อรุก 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1) จัดจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและโซลาร์โซลูชั่น และการปล่อยสินเชื่อ 2) ธุรกิจกัญชง–กัญชา 3) โซลาร์รูฟท็อป และ 4) โทเคนดิจิทัล

ความน่าสนใจ หนึ่ง – เป็นการเอาสิ่งที่ GUNKUL ถนัด พ่วงกับสิ่งที่ JMART มี นั่นคือ ธุรกิจอสังหาฯ ภายใต้ JAS ASSET เน้นคอมมูนิตี้มอลล์และอาคาร ต่อยอดไปสู่โซลาร์รูฟท็อป…ขณะที่ก่อนหน้านี้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปต้นทุนสูง ทำให้จำกัดอยู่แค่โปรเจกต์ขนาดใหญ่ การจับมือกับ JMART จึงน่าสนใจ เพราะทำให้ขยายตลาดได้กว้างและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ด้วยการปล่อยสินเชื่อผ่าน SINGER

สอง – ในส่วนของธุรกิจกัญชง–กัญชา ถ้ามีโปรดักส์ออกมา ก็สามารถขายผ่านชาแนลของ JMART ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศได้

และสาม – โทเคนดิจิทัล แน่นอนมีโอกาสเกิดขึ้นของเหรียญดิจิทัล อย่างน้อยก็เพื่อนำไปทำการตลาด กระตุ้นยอดขาย ก็จะทำให้ GUNKUL มีลูกเล่นมากขึ้น ส่วน JMART มีโปรดักส์ที่หลากหลายขึ้น

ก็ไม่รู้ว่า GUNKUL กับ JMART มาเจอกันได้อย่างไร..? (จะใช่ในชั้นเรียนหลักสูตร วปอ. หรือเปล่าน้อ..!!)

แต่การได้กลุ่ม JMART มาเป็นพันธมิตร น่าจะทำให้ GUNKUL ไปได้ไกลกว่านี้อีกมากโข…เชื่อขนมกินได้เลย…

…อิ อิ อิ…

Back to top button