TPP อย่าหลอกตัวเองทายท้าวิชามาร
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพิ่งพิจารณาข้อดีข้อเสีย การเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ที่สหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ มีสมาชิก 12 ประเทศ รวมประเทศสำคัญๆ อย่างญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ในอาเซียนก็มีทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน ซึ่งถ้าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เข้าร่วมเมื่อไหร่ AEC ก็หมดความหมาย เหลือแต่ไทยเป็นศูนย์กลางพม่า ลาว เขมร
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพิ่งพิจารณาข้อดีข้อเสีย การเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ที่สหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ มีสมาชิก 12 ประเทศ รวมประเทศสำคัญๆ อย่างญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ในอาเซียนก็มีทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน ซึ่งถ้าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เข้าร่วมเมื่อไหร่ AEC ก็หมดความหมาย เหลือแต่ไทยเป็นศูนย์กลางพม่า ลาว เขมร
แต่รัฐบาลไทยยังใจเย็น ยังมีเวลาถึงกรกฎาคม 2560 ซึ่งตามโรดแมพคงมีรัฐบาลเลือกตั้งพอดี แต่จะไม่ให้มีเวลาเจรจาต่อรองเลยหรือไง อย่าบอกนะว่าเจรจาไปก่อนได้ เพราะสหรัฐฯไม่สามารถเจรจา TPP กับไทยตราบใดที่อยู่ใต้รัฐประหาร ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งไปจับมือประธานาธิบดีโอบามา ก็อย่าลืมว่าอเมริกากำลังจะเลือกตั้ง โอเค เขาคงไม่ลดความสัมพันธ์ แต่ก็จะไม่มาจูบปากจนถูกโจมตีทางการเมือง
พูดกันตรงๆ ดีกว่า ไทยตกรถไฟ TPP ไปแล้วตั้งแต่มีรัฐประหาร เพราะสหรัฐฯหยุดการเจรจา แบบเดียวกับสหภาพยุโรปหยุด FTA เพียงแต่ยอมรับความจริงอีกด้าน ต่อให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังอยู่ ภายใต้ความขัดแย้งแบ่งขั้วก็ไม่มีทางเจรจา TPP หรือ FTA สำเร็จ เพราะจะมีแรงต้านจาก NGO แล้วก็จะมีพวกไล่รัฐบาลเข้ามาผสมโรง
คิดแล้วขำดี ตอนมีรัฐบาลเลือกตั้งโอกาสเปิดกว้าง ก็ถูกขัดขวางจากภายใน พอมีรัฐบาลรัฐประหาร แรงต้านลดลงไป พวกเกลียด “อีปู” ไม่สนใจ “ลุงตู่” ทำอะไรก็ได้ คนค้านเหลือแค่ NGO จำนวนไม่มาก แต่โลกภายนอกไม่ยอมรับซะแล้ว
นี่ต่างจากรัฐประหาร 49 ซึ่ง FTA กับสหรัฐฯพับไป แต่รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังเซ็น JTEPA ได้ (โดยตอนนั้น NGO ก็ไม่สามารถคัดค้าน)
พูดอย่างนี้ไม่ใช่จะว่า NGO เป็นตัวร้าย ตัวถ่วงความเจริญ เพราะผมเห็นด้วยว่าข้อตกลงเรื่องสิทธิบัตรยา พันธุ์พืช จะทำให้ไทยเสียเปรียบมาก แต่ถ้าไม่เข้าร่วม TPP เราก็จะสูญเสียทั้งการส่งออกการลงทุน ในขณะที่ประเทศกำลังต้องการตลาดใหม่อย่างเร่งด่วน ต้องการนักลงทุนกระทั่งยอมลดภาษี ให้สิทธิพิเศษต่างๆ อยู่ตอนนี้
นอกจากนี้ TPP หรือ FTA ยังมีด้านดีเรื่อง “ธรรมาภิบาล” ที่คนไทยพูดกันนักหนา เพราะ “กติกาฝรั่ง” จะเน้นห้ามผูกขาดกีดกัน เปิดเสรีให้แข่งขัน จัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส ไม่ใช้แรงงานเด็ก ไม่ค้ามนุษย์
ประเด็นหลังนี้จริงๆ แล้วกลุ่มทุนไทยก็ไม่เต็มใจนัก แต่ผลประโยชน์จากการลงทุนการส่งออกสำคัญและเสียงดังกว่า
แนวโน้มเห็นชัดว่าเราจำเป็นต้องเข้า TPP FTA แต่ก็ต้องเจรจาปกป้องผลประโยชน์เรื่องสิทธิบัตรยา พันธุ์พืช ให้ถึงที่สุด ฉะนั้นตอนเจรจากันจริงๆ จึงไม่ง่าย ต้องใช้เวลาทั้งภายนอกภายใน ต้องเจรจากับสหรัฐฯที ต้องกลับมาถกกับ NGO กับภาคธุรกิจต่างๆ ขณะเดียวกันก็ต้องขออนุมัติรัฐสภา ต้องเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ โดยกว่าจะเริ่มต้นได้ก็หลังรัฐบาลเลือกตั้ง นี่ไม่ใช่แค่เงื่อนไขต่างประเทศ แต่ถ้าไม่อยู่ในบรรยากาศเสรีภาพ ประชาธิปไตย เปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นได้เต็มที่ รัฐบาลจะทำความตกลงที่มีผลกระทบต่อประชาชนวงกว้างได้อย่างไร
มองข้ามช็อตไป อย่างเร็วก็ปี 2562 กว่าไทยจะเข้าร่วม TPP ได้ ถึงตอนนั้นเพื่อนบ้านไปถึงไหนแล้วไม่รู้ นี่ยังไม่นับว่าเราอาจจะมีอุบัติเหตุที่ทำให้ไม่เป็นไปตามโรดแมพ ไม่ได้เลือกตั้งซักที
ใบตองแห้ง