พาราสาวะถี

ไม่มีอะไรต้องตื่นเต้น ตกใจ อยู่ที่ว่าจะเตรียมตัวรับมือกับการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนกันอย่างไรเท่านั้นเองสำหรับคนไทยทั่วประเทศ


ไม่มีอะไรต้องตื่นเต้น ตกใจ อยู่ที่ว่าจะเตรียมตัวรับมือกับการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนกันอย่างไรเท่านั้นเองสำหรับคนไทยทั่วประเทศ สัญญาณมันมีให้เห็นตั้งแต่การเปิดรับนักท่องเที่ยวและคนไทยจากต่างแดนด้วยระบบเทสต์ แอนด์ โก คลัสเตอร์สองผัวเมียที่กาฬสินธุ์เป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าไม่ช้าก็เร็วที่ประเทศไทยจะพบการระบาดจำนวนมาก ยิ่งมีการปล่อยให้คนได้เดินทางกันจำนวนมากช่วงปีใหม่ก็เท่ากับการเปิดให้ไปรับและแพร่เชื้อกันอย่างกว้างขวางนั่นเอง

ยอมรับสภาพแต่โดยดี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 5 หรือเวฟ 5 แล้ว ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่จะต้องเตรียมเตียงรักษาในโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วย ก็มีการยืนยันว่าจากการสำรวจเวลานี้มีเตียงรองรับวันละ 52,300 เตียงทั่วประเทศ เฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีว่าง 25,828 เตียง หมายความว่าหากเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขประเมินแบบเลวร้ายสุดมีผู้ติดเชื้อถึงวันละ 30,000 ราย กรมการแพทย์จะมีเตียงเพียงพอในการรักษา

นาทีนี้ไม่ต้องไปถามหาความรับผิดชอบจากใครอีกแล้ว ยิ่งผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ต้องพูดถึง ซึ่งตัวเลขของผู้ป่วยนั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ก็บอกให้เตรียมตัวไว้ได้เลยภายใน 3-4 วันนี้จะมีผู้ป่วยทะยานขึ้นหลักหมื่นคนต่อวันแน่นอน และภายในปลายเดือนนี้จะเห็นตัวเลขวันละ 2-3 หมื่นราย แม้กระทรวงสาธารณสุขจะมั่นใจว่ารับมือได้ แต่หมอประสิทธิ์บอกว่ามี 2 เรื่องที่กังวล

นั่นก็คือ การแพร่ระบาดที่รวดเร็ว โดยประเมินว่าโอมิครอนน่าจะกระจายตัวได้เร็วกว่าเดลต้ายอย่างน้อย 3 เท่าตัว ซึ่งต้องระวังการกลายพันธุ์ที่อาจไปพบในจุดที่ทำให้โรครุนแรงขึ้น แม้ตามหลักการแล้วจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลงไปเรื่อย ๆ แต่ต้องระวัง ขณะเดียวกันเมื่อติดเชื้อมาก ก็จะพบสัดส่วนผู้ที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น และต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล สถานการณ์จะเริ่มกลับมากระทบระบบสาธารณสุขของประเทศ ดังนั้นจึงไม่อยากให้แพร่กระจายมาก

ข้อกังวลเรื่องการแพร่ระบาดที่รวดเร็วนั้น ไม่เฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยเท่านั้นที่เป็นห่วง แม้แต่องค์การอนามัยโลกเองก็แสดงความกังวลเช่นเดียวกัน โดยที่ แคเธอรีน สมอลวูด เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกอาจนำมาซึ่งผลกระทบด้านลบ ยิ่งโอมิครอนแพร่ระบาดเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมันกระจายและแบ่งตัวเพิ่มขึ้นมากเท่าใด ก็มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่มันจะกลายเป็นไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ด้วย

พอจะเข้าใจได้กับความรู้สึกของเจ้าหน้าที่อาวุโสฯ ขององ์การอนามัยโลกรายนี้ที่ดูแลภูมิภาคยุโรป เนื่องจากสถานการณ์ที่นั่นเวลานี้หนักหน่วงเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร สิ่งที่เจ้าตัวเตือนอีกก็คือ “เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่อันตรายที่สุด” มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมากในยุโรปตะวันตก และผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่ชัดเจน แม้จำนวนผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจะลดลง แต่ในภาพรวมแล้วโอมิครอนยังคงเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่เมื่อดูจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น

หากเชื่อในทฤษฎีแบบไทย ๆ เชื่อมั่นในความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ที่แสดงให้เห็นมาแล้วจากการใช้วัคซีนสูตรไขว้ หนนี้กับโควิดโอมิครอนถ้าเชื่อตามที่ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ก็น่าที่จะทำให้คนไทยเบาใจลงได้บ้าง แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทุกวันจะบั่นทอนสภาพจิตใจกันก็ตาม

หมอยงมองว่า การติดเชื้อทั่วโลกขณะนี้เพิ่มมากขึ้นวันละเป็นล้านราย แต่อัตราการตายโดยเฉลี่ยลดลงกว่าที่ผ่านมามาก ตัวเลขขณะนี้จะนับจำนวนผู้ป่วย เฉพาะผู้ที่ทำการตรวจยืนยันแล้วเท่านั้น ผู้ป่วยส่วนมากที่มีอาการแล้วไม่ได้ตรวจ เช่น ในประเทศที่การตรวจ RT-PCR ไม่ทั่วถึง และการที่ป่วยแบบไม่มีอาการ ก็มีอีกจำนวนมาก เมื่อรวมแล้วน่าจะเป็นจำนวนมากกว่ายอดที่แจ้งให้องค์การอนามัยโลกหลายเท่าตัว เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น และการติดเชื้อครั้งต่อไปอาการความรุนแรงก็จะลดลงเหมือนโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ

สิ่งสำคัญคือ มีผู้ที่ได้รับวัคซีนอีกจำนวนมากตัวเลขในปัจจุบันฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 9,000 ล้านโดส เมื่อรวมกันแล้วน่าจะมีประชากรหลายพันล้านคนที่มีภูมิต้านทานแล้วจากการติดเชื้อหรือได้รับวัคซีน ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อประชากรส่วนใหญ่มีภูมิเกิดขึ้น และความรุนแรงของโรคน้อยลง อัตราตายของโรคในปัจจุบันจึงลดลงมาโดยตลอด ในที่สุดเชื่อว่าองค์การอนามัยโลกจะเลิกนับจำนวนผู้ป่วย หลังจากนั้นก็จะตรวจเฉพาะผู้ที่มีอาการของโรคเท่านั้น จะไม่เหวี่ยงการตรวจ RT-PCR ที่มีราคาแพงมากเหมือนปัจจุบัน

ตามการวิเคราะห์ของหมอยงเห็นว่าจะมีการตรวจในผู้ที่มีอาการหรือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการรักษาหรือมีอาการมาก โดยเฉพาะเมื่อมียารักษาจำเพาะเพื่อลดความรุนแรง และทุกคนก็จะยอมรับและปรับตัวได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามความจำเป็นสำหรับคนไทยส่วนใหญ่คือต้องติดตามข้อมูลข่าวสารและเรียนรู้ต่อลักษณะอาการของโควิดสายพันธุ์ดังกล่าว เพราะทางอธิบดีกรมการแพทย์ได้แถลงยอมรับเองว่า การวัดอุณหภูมิร่างกายหรือวัดอาการไข้ที่เราคุ้นชินกันมาตลอดที่มีการระบาดของโควิดนั้น อาจไม่ใช่ตัวบอกหลักอีกแล้ว

นอกเหนือจากเรื่องการตรวจ ATK หลังเดินทางกลับจากช่วงหยุดยาว หรือการขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้านกันเป็นหลักแล้ว สิ่งหนึ่งที่มีการขอความร่วมมือเพิ่มเติมกันร่วมกับการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัดนั่นก็คือ หากมีอาการคล้ายไข้หวัด อย่าไปในที่ชุมชน ทางหน่วยงาน องค์กร ห้างสรรพสินค้า อาจต้องมีป้าย หรือระบบในการย้ำประชาชนที่เข้าไปใช้บริการว่า หากมีอาการคล้ายไข้หวัดให้สงสัย และรีบตรวจ ATK อย่าเพิ่งเข้าแหล่งชุมชน หรือพื้นที่สาธารณะ สุดท้ายไม่ว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายหรือระเบียบอะไร ก็ไม่ปลอดภัยเท่ากับ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” นั่นเอง

Back to top button