Q3 แบงก์ใหญ่กำไรวูบ! ปรับแผนโยกเล่นหุ้นกลาง-เล็ก TCAP-TMB เด่นสุด

กลุ่มธนาคารพาณิชย์แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3 ครบ 11 แห่ง กำไรรวม 4.52 หมื่นล้านบาท ลดลง 17% ส่วน 9 เดือนแรก กำไร 1.49 แสนล้านบาท ลด 5.27% เผย 4 แบงก์ใหญ่ BBL KBANK KTB และ SCB วูบถ้วนหน้า โดยเฉพาะ 2 แบงก์หลัง ตั้งสำรองฯ หนักจากปัญหา SSI ด้านโบรกฯ แนะเล่นหุ้นแบงก์กลาง-เล็ก เช่น TCAP และ TMB


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์จำนวน 11 แห่ง ได้แจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2558 กันออกมาครบแล้ว ปรากฏว่ามีกำไรสุทธิรวมกัน 4.52 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่มีกำไรสุทธิ 5.42 หมื่นล้านบาท เปลี่ยนแปลงลดลง 16.69% ส่วนในช่วง 9 เดือนแรก มีกำไรสุทธิรวมกัน 1.49 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ที่มีกำไรสุทธิ 1.57 แสนล้านบาท ลดลง  5.27%

 

กำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาส 3/2558 (หน่วย: ล้านบาท)

ธนาคาร ไตรมาส 3/58 ไตรมาส 3/57 + (-)  9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย. 58) 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย. 57) +/- (%)
KBANK 10,117   12,516   -19.16% 33,997   36,187 -6.00%
BBL 9,057    9,575   -5.40% 26,499   27,569 -3.88%
SCB 9,018  13,252 -31.94% 35,387 41,104 -13.90%
KTB 5,347    9,255   -42.22% 21,724   25,172 -13.69%
BAY 4,851    3,507   38.32 13,527   10,234 32.17%
TMB 2,815    2,387    17.93% 6,712     6,564 2.25%
TCAP 1,353    1,202    12.66% 4,077    3,761 8.40%
KKP 923         869 6.21% 2,337    2,220 5.27%
TISCO 810    1,089    -25.61% 3,006    3,015 -0.29%
CIMBT 498            275    81.09% 847  900 -5.88%
LHBANK 443       367   20.70% 1,191      899 32.48%
รวม 45,232 54,294 -16.69% 149,304 157,625 -5.27%

*หมายเหตุ: ข่าวหุ้นธุรกิจรวบรวม

 

ทั้งนี้ กำไรที่ปรับลงส่วนใหญ่มาจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง คือ แบงก์กรุงเทพ (BBL) แบงก์กสิกรไทย (KBANK) แบงก์กรุงไทย (KTB) และไทยพาณิชย์ (SCB) ต่างมีกำไรสุทธิปรับลดลง โดยของ BBL และ KBANK มาจากปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องมีการตั้งสำรองหนี้ฯ เพิ่มขึ้น เพื่อดึงตัวเลข ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ Coverage Ratio ให้อยู่ระดับสูงต่อไป

ขณะที่ KTB และ SCB เผชิญกับปัญหาหนี้ SSI UK และ SSITH กระทั่งต้องการการตั้งสำรองกันรายละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 3/2558

 

นายทรงกลด วงศ์ไชย ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด เปิดเผยว่า ยังคงอันเดอร์เวทหุ้นกลุ่มธนาคาร เพราะมองภาพหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของกลุ่มธนาคารช่วงไตรมาส 4/58 และช่วงปี 2559 ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ส่งผลให้การตั้งสำรองหนี้เสียพิเศษของกลุ่มธนาคารช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ยังคงมีอยู่รวมไปช่วงปีหน้าด้วย

สำหรับภาพรวมผลประกอบการช่วงไตรมาส 3/58 ของกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะในส่วนของการทำกำไรลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาและเทียบกับช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยเริ่มมีความกังวลกับหุ้นกลุ่มธนาคารในอนาคตต่อภาวะเศรษฐกิจ ที่ฟื้นตัวช้าและคาดว่าจะยาวไปถึงช่วงปีหน้าเช่นเดียวกัน

แต่หากนักลงทุนสนใจในหุ้นกลุ่มธนาคาร หลักทรัพย์กลุ่มธนาคารที่พอจะเลือกเข้าลงทุน คือ หุ้น KBANK เพราะหุ้นดังกล่าวมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีที่สุดในกลุ่ม ที่สำคัญราคาหุ้น KBANK ในช่วงนี้ปรับตัวลดลงมาค่อนข้างถูก จึงแนะ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 210 บาท, ส่วนอีกหลักทรัพย์ คือ หุ้น TCAP แนะนำ “ซื้อ” เช่นเดียวกัน ราคาเป้าหมายที่ 38 บาท โดยหุ้นดังกล่าวมีหนี้เสียน้อยที่สุดในกลุ่มและการเติบโตทางธุรกิจยังคงมีอยู่

 

บล.ฟินันเซียไซรัส ระบุว่า ได้แนะนำซื้อหุ้น TMB ราคาเหมาะสมปี 2559 ที่ 3.04 บาท เพราะมองว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือ NIM ทำได้ตามคาดที่ 3.02% จาก 3% ในไตรมาส 2/58 และสวนทางกลุ่มธนาคารซึ่งจะมี NIM ลดลงในไตรมาส 3 เนื่องจาก TMB ได้ประโยชน์จากต้นทุนเงินฝากที่ลดลง รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยทำได้สูงกว่าคาดเกิดจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันและการให้สินเชื่อ

ด้าน NPL ขยับลง 1.3% จากไตรมาส 2 หรือราว 260 ล้านบาท มีการขาย NPL ออกไปราว 858 ล้านบาท ส่วน NPL ที่เกิดขึ้นใหม่เพิ่มแต่ในอัตราที่ชะลอลง NPL ratio ลดลงมาอยู่ที่ 2.95% ของสินเชื่อรวม (VS 3.09% ในไตรมาสก่อน) ขณะที่ Coverage ratio แข็งแกร่งที่ 146%

 

ส่วนวานนี้ KTB ได้แจ้งผลประกอบการออกมาล่าสุด ซึ่งนายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เปิดเผยว่า ผลประกอบการในไตรมาสที่ 3/2558 เปรียบเทียบกับไตรมาส 3/2557 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนกันสำรองและภาษีเงินได้จำนวน 17,041 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.22 และมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร จำนวน 5,347 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 42.23 โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเท่ากับ 20,407 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.71 จากไตรมาสเดียวกันของ   ปีก่อน จากการขยายตัวของสินเชื่อ ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิเท่ากับ 8,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.75 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับงวด 9 เดือน ธนาคารมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร จำนวน 21,724 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.70 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ธนาคารได้กันสำรองเพิ่มเติมจำนวน  10,300 ล้านบาท  โดยในไตรมาส 3 ธนาคารได้กันสำรองเพิ่มอีก 6,700 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินสำรองเพิ่มเติมสำหรับลูกหนี้อุตสาหกรรมเหล็ก ขนาดใหญ่ นอกเหนือจากการกันสำรองตามปกติเดือนละ 700 ล้านบาท ส่งผลให้ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองรวมจำนวน 21,692 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.69  ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง เพื่อรองรับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและนอกประเทศ

ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน  1,984,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี  2557 จำนวน 31,073 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.59  มียอดเงินรับฝากจำนวน 2,072,760 ล้านบาท ลดลง 78,508 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.65 จากสิ้นปี 2557 โดยลดลงจากการครบกำหนดของเงินฝากประจำเป็นหลัก ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) รวม 91,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34,043 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ  59.22 จากสิ้นปี  2557  NPLs (gross) อยู่ที่ 4.03%

โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อด้อยคุณภาพกลุ่มลูกหนี้ 2 บริษัทในอุตสาหกรรมเหล็กเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ ประมาณ 23,000 ล้านบาท  ทั้งนี้ หากไม่นับรวมสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ของลูกหนี้รายใหญ่ดังกล่าว ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) จำนวน 68,476 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,987 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.11 จากสิ้นปี  2557  NPLs (gross)  อยู่ที่ 3.05% ส่วนใหญ่มาจากลูกค้า SME ขนาดเล็ก และลูกค้ารายย่อย ซึ่งค่อนข้างอ่อนไหวต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจ

ธนาคารมีเงินกองทุนเท่ากับ 299,230 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.49 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง โดยเป็นกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 225,067 ล้านบาท  หรือร้อยละ 11.65 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง

Back to top button