พาราสาวะถี

พูดง่ายในสไตล์หมอการเมืองที่รับใช้ใกล้ชิดนักเลือกตั้งที่มาเป็นผู้บริหารกระทรวง จึงไม่แปลกที่ นายแพทย์โอภาส จะเป็นผู้เล่นตัวหลักในการชี้นำสังคม


พูดง่ายในสไตล์หมอการเมืองที่รับใช้ใกล้ชิดนักเลือกตั้งที่มาเป็นผู้บริหารกระทรวง จึงไม่แปลกที่ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค จะเป็นผู้เล่นตัวหลักในการชี้นำสังคมให้คล้อยตามความพยายามของกระทรวงสาธารณสุขที่พยายามอธิบายปรากฏการณ์ในห้วงเวลาต่าง ๆ ตั้งแต่การเกิดระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อไม่ให้ประชาชนพุ่งเป้าโจมตีไปที่เจ้ากระทรวงซึ่งปากไวและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตั้งแต่หลุดวาทกรรมไข้หวัดกระจอกมาแล้ว

กับการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่เป็นอยู่เวลานี้ นายแพทย์โอภาสก็แถลงยืนยันว่าไม่น่าวิตกกังวล แม้ตัวเลขของผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นแต่ความรุนแรงของโรคลดลงไปอย่างมาก ดังนั้นจึงจะมีการปรับการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ โดยไม่นับย้อนหลังไปไกลกว่านี้ แต่ให้ตัดเริ่มใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมา เพื่อจะได้พิจารณาว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก และคนเสียชีวิตมีสัดส่วนเป็นอย่างไร อันจะเป็นการนำคนไทยเดินไปสู่เป้าหมายที่กระทรวงตั้งไว้ คือทำให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นในปีนี้

สิ่งที่บอกว่าพูดง่ายแต่ทำได้ยากจากการที่อธิบดีกรมควบคุมโรคพยายามโน้มน้าวให้ประชาชนคล้อยตามนั่นก็คือ ประชาชนต้องมีความเข้าใจโรคโควิด-19 ให้มากขึ้น หากยังตื่นตระหนก ตื่นกลัว ก็จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นไม่ได้ คำถามก็คือจะให้คนเลิกหวาดกลัวได้อย่างไร เพราะกรณีของผู้ติดเชื้อมันไม่ได้เหมือนไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดทั่วไป ที่ยังสามารถไปทำงานได้เป็นปกติ กินยารักษาแล้วเชื่อมั่นได้ว่าหายแน่นอน แต่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีปัญหายุ่งยากมากไปกว่านั้น

เบื้องต้นก็ต้องกักตัวอย่างน้อยจะกี่วันก็แล้วแต่ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้คนไม่อยากหยุดงาน ไม่อยากขาดรายได้ นี่คือปัจจัยสำคัญ ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบต่อคนใกล้ชิด เกรงว่าจะได้รับเชื้อต่อจากตัวเอง และไม่มีใครการันตีได้ว่าเป็นแล้วอาการจะไม่หนัก นั่นจึงยังทำให้ความตระหนกคงอยู่ คำอธิบายของหมอโอภาสที่ว่า เชื่อว่าโรคไม่รุนแรง หากเป็นเช่นนี้จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นได้เร็ว ๆ นี้ ในเชิงวิชาการประกอบด้วย 3 ส่วนคือ โรคอ่อนฤทธิ์ลง คนได้รับวัคซีน และสิ่งแวดล้อมคือระบบการรักษา

ประเด็นโรคอ่อนฤทธิ์อธิบายได้จากตัวเลขผู้ติดเชื้อเยอะ แต่เจ็บหนัก ตายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อันนี้พอเข้าใจได้ กรณีการรับวัคซีนต้องกี่เข็มขึ้นไปถึงจะถือว่าปลอดภัยหรือมีโอกาสเสี่ยงน้อยที่สุดที่จะเกิดความรุนแรงหากรับเชื้อ และต้องชี้แจงให้ชัดต่อไปด้วยว่า เวลานี้ประเทศไทยมีคนที่ฉีดวัคซีนสองเข็มขึ้นไปมีจำนวนมากพอที่จะทำให้ไม่ต้องกังวลต่อการระบาดของโควิดไม่ว่าสายพันธุ์ใดได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ก็ยังมีเสียงจากบุคลากรทางการแพทย์ว่าโอมิครอนถ้าจะให้ชัวร์ต้องรีบบูสต์เข็ม 3 โดยเร็ว

ส่วนเรื่องของการรักษาที่รอบนี้ชัดเจนว่าจะเน้นไปที่การให้ผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ดูแลตัวเองอยู่ที่บ้าน หรือไม่ก็เข้าศูนย์พักคอยในชุมชน ตรงนี้คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจนสุดท้ายจำนวนของผู้ป่วยอาการหนักก็จะเพิ่มตามมา ถามว่าระบบสาธารณสุขที่เตรียมการกันไว้จะสามารถรองรับได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่คงพร้อมที่จะเชื่อหากสิ่งที่อธิบดีกรมควบคุมโรคบอกเป็นจริง ที่ว่าถ้าทุกคนปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เชื่อว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายใน 1-2 สัปดาห์

หลังสงกรานต์เมื่อปีที่แล้วประชาชนก็ถูกหลอกมาหนหนึ่งแล้ว หวังว่าครั้งนี้จะไม่ซ้ำรอยเดิมอีก เพราะยังมีสิ่งที่เป็นเรื่องย้อนแย้งกันอยู่ในทีจากที่ได้ฟังหมอการเมืองรายนี้พูด โดยระบุว่า เนื่องจากจากการติดตามข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชาชนพบว่าภาพรวมของประเทศช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 มีการเคลื่อนที่ค่อนข้างมาก แทบจะสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่มีการแพร่กระจายได้รวดเร็ว ที่ชลบุรีพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นนั้น เพราะมีการเดินทางในช่วงปีใหม่

ไม่ต่างกันกับที่เชียงใหม่ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปจำนวนมากในช่วงปีใหม่ก็พบการระบาดเป็นคลัสเตอร์เช่นกัน จนต้องปิดร้านอาหารจำนวน 23 แห่ง เมื่อรู้เช่นนี้แล้วทำไมจึงปล่อยให้มีการเดินทางแทนที่จะมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อชะลอการเดินทาง ลดการแพร่เชื้อที่รู้อยู่แล้วว่าติดง่ายระบาดเร็ว เหตุผลตัวเดียวที่หมอไม่สามารถปฏิเสธความต้องการของนักเลือกตั้งและผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้คือ เศรษฐกิจต้องขับเคลื่อน ธุรกิจและประชาชนต้องอยู่รอด

ทั้งที่ยังมีเทศกาลสงกรานต์อีกไม่กี่เดือนข้างหน้ารออยู่ ถ้าไม่อยากให้เกิดการระบาดใหญ่ก็อดใจรอกันไปได้ แล้วก็บริหารจัดการ ปัดกวาดเรื่องโอมิครอนให้เรียบร้อย ความจริงส่วนหนึ่งที่ต้องร่วมรับผิดชอบกันในแง่ของต้นตอการระบาดของโควิดสายพันธุ์นี้นั่นก็คือ การรับนักท่องเที่ยวแบบเทสต์ แอนด์ โก แต่เมื่อผ่านมาถึงตรงนี้ ถามหาความรับผิดชอบไปก็เปล่าประโยชน์ เพราะกระบวนการต่าง ๆ ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจใช้ในการรับมือกว่า 2 ปีที่ผ่านมานั้น ประชาชนเห็นกันอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร

ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่จะเป็นบทพิสูจน์ราคาคุยของหมอการเมืองทั้งหลาย หลังจากออกมาแก้ตัวเรื่องความผิดพลาดในการจัดการวัคซีนโควิด-19 ก็คือ การอ้างว่าได้ลงนามซื้อวัคซีนกับบริษัทไฟเซอร์กว่า 60 ล้านโดสในปีนี้นั้น จะมีผลดีไปถึงการได้รับสิทธิในการเข้าถึงวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ของบริษัทดังกล่าวด้วย ล่าสุด อัลเบิร์ต บูร์ลา ซีอีโอของบริษัทประกาศว่า วัคซีนต้านโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนโดยเฉพาะจะพร้อมใช้ในเดือนมีนาคมนี้ ประเทศไทยจะอยู่ในลำดับต้น ๆ ที่จะได้รับโอกาสหรือไม่ ถือเป็นบททดสอบความสามารถในการเจรจาก่อนการเซ็นสัญญาอย่างแท้จริง

ไม่ว่าสถานการณ์โควิดจะเป็นอย่างไร นักเลือกตั้งก็ยังมองเห็นผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญอยู่ดี เห็นได้ชัดกับการกัดไม่ปล่อยโต้ตอบกันดุเดือดของคนพรรคสืบทอดอำนาจกับประชาธิปัตย์ ปมของแพงที่รัฐมนตรีพรรคเก่าแก่ถูกโยนบาปให้รับผิดชอบ เพราะมันจะส่งผลถึงการเลือกตั้งซ่อมที่สงขลาและชุมพรอย่างแน่นอน ส่วนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจทำได้แค่แหย่แก้เครียดกับรัฐมนตรีของสองพรรคผ่านที่ประชุมครม.ว่างานหนักและยังมาเหนื่อยกับการหาเสียงด้วย หวานอมขมกลืนกันไป เพราะตัวท่านผู้นำเองก็หมดปัญญาที่จะแก้ไขจริง ๆ

Back to top button