ก.พลังงาน คาดมูลค่าลงทุนด้านพลังงานช่วง 3-5 ปีหน้าสูงราว 6.9 แสนลบ.

ก.พลังงาน คาดมูลค่าลงทุนด้านพลังงานช่วง 3-5 ปีนี้สูงราว 6.9 แสนลบ.ซึ่งเป็นเงินลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนในธุรกิจไฟฟ้า ราว 121,060 ล้านบาท, ปิโตรเลียม 342,284 ล้านบาท, พลังงานทดแทน 102,228 ล้านบาท และการอนุรักษ์พลังงาน 126,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น


นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำหรับมูลค่าการลงทุนทางด้านพลังงานจากนี้จนถึงในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะสูงถึงประมาณ 691,572 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนในธุรกิจไฟฟ้า ราว 121,060 ล้านบาท, ปิโตรเลียม 342,284 ล้านบาท, พลังงานทดแทน 102,228 ล้านบาท และการอนุรักษ์พลังงาน 126,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศและให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น

“การลงทุนตามแผนบางโครงการใช้เวลา 1 ปีบ้าง 2 ปีบ้าง 3 ปีบ้าง แล้วแต่โครงการ โครงการใหญ่ๆ มีทั้งคลัง LNG เฟส 2 ท่อส่งก๊าซฯ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และแผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นการลงทุนในระยะสั้น”นายประพนธ์ กล่าว

โดยมองว่าประเทศไทยมีแนวโน้มการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นทุกปี จากข้อมูลการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี 57 มีปริมาณ 75.8 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพิ่มขึ้น 0.8% โดยภาคอุตสาหกรรมนับว่ามีการใช้พลังงานสูงสุด ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ก็เติบโตราว 2.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้ในกลุ่มน้ำมันดีเซล และเบนซิน ขณะที่การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) ลดลง หลังราคาน้ำมันนตลาดโลกปรับตัวลดลง

ดังนั้น กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนพลังงาน 5 แผนหลักเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดย 5 แผนหลัก ระยะเวลาตั้งแต่ปี 58-79 ประกอบด้วย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของปนะเทศไทย(PDP 2015) มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงราว 20-25% และผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนราว 15-20%

แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) มีเป้าหมายลดการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ลง 30%,แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP 2015) มีเป้าหมายจัดโซนนิ่งและการแข่งขันที่เป็นธรรม

แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (GAS Plan 2015) มีเป้าหมายลดความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันไทยใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้าสูงถึง 75% ขณะที่ปริมาณสำรองก๊าซฯที่พิสูจน์แล้ว (P1) คงเหลือใช้เพียง 6 ปีเท่านั้น ทำให้จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อยืดอายุการใช้ก๊าซฯ โดยจะจำกัดอัตราการลดลงของก๊าซฯจากเดิมลดลง 11% ต่อปีเหลือลดลง 2% ต่อปีในช่วงปลายแผน ด้วยการเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ และการส่งเสริมให้เกิดการใช้ถ่านหินมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเร่งจัดทำแผนเพื่อให้เห็นการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นนอกจากนี้ยังจะมีการวางระบบการบริหารจัดการด้านก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)ที่คาดว่าจะต้องมีการนำเข้ามากขึ้นนอนาคต เพื่อยืดอายุการใช้ก๊าซฯในประเทศด้วย

แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (OIL Plan 2015)มีเป้าหมายจะใช้เชื้อเพลิงชีวภาพสัดส่วน 20% ซึ่งเป็นการผลักดันการใช้แก๊สโซฮอล์ ตามาตรการส่งเสริมของภาครัฐ คาดว่าจะทำให้เกิดการใช้เอทานอลเพิ่มเป็น 11 ล้านลิตร/วันในช่วงปลายแผน จากปัจจุบันที่ 3.3  ล้านลิตร/วัน ขณะที่มองว่าการที่ภาครัฐจะปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ในปีหน้า ตามการปล่อยมลพิษนั้นจะมีส่วนช่วยให้เกิดการใช้ E85 เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังจะสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นด้วย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำการทดสอบการใช้ B10 สำหรับรถยนต์ทั่วไปจากปัจจุบันที่มีการบังคับใช้ B7 ทั่วประเทศ และตามแผนนี้จะมีการยกเลิกการอุดหนุนราคาด้วย แต่จะยังคงให้การอุดหนุนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ตลอดจนการขยายท่อส่งน้ำมันเพื่อให้เกิดความมั่นคงในด้านการขนส่งด้วย

ประกอบกับขณะนี้กระทรวงพลังงานยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบการดำเนินการของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(VSPP)ที่ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA)แต่ยังไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD) ได้ตามกำหนดซึ่งมีอยู่ 70 แห่ง กำลังผลิตรวมราว 150 เมกะวัตต์ เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุและแก้ปัญหา หากพบว่ามีเจตนาจะไม่ผลิตและขายใบอนุญาตต่อ ก็อาจต้องยกเลิกสัญญา เพื่อเปิดพื้นที่สายส่งให้ว่างพอจะรับกำลังผลิตใหม่ที่จะเข้ามา โดยคาดว่าจะสรุปได้ในปลายปีนี้

 

Back to top button