“ฮ่องกง” โชว์นวัตกรรม “วัสดุต้านไวรัส” ฆ่าเชื้อโควิด-19 บนพื้นผิว

ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคฮ่องกงพัฒนา “วัสดุต้านไวรัสที่ผลิตโดยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ” สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 และแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปบนพื้นผิว


เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (13 ม.ค.) มหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคฮ่องกง (PolyU) ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงทางตอนใต้ของจีน ประกาศว่าทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ สามารถพัฒนา “วัสดุต้านไวรัสที่ผลิตโดยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ” ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) รวมถึงเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปบนพื้นผิว

โดยคณะนักวิจัยระบุว่าส่วนประกอบหลักของวัสดุดังกล่าวคือเรซิน (resin) ที่เสริมสารต้านไวรัสอย่างสารประกอบประจุบวก ซึ่งจะเจาะเยื่อหุ้มเซลล์และทำลายโครงสร้างของไวรัส เพื่อฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย

หลูจวินอวี่ (Chris Lo) รองศาสตราจารย์ที่สถาบันสิ่งทอและเสื้อผ้าของมหาวิทยาลัยฯ และผู้นำทีมวิจัย เปิดเผยว่าการทดสอบในห้องปฏิบัติการยืนยันว่าวัสดุข้างต้นสามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้มากกว่าร้อยละ 90 ภายในเวลา 10 นาที และกำจัดไวรัสและแบคทีเรียเกือบทั้งหมดบนพื้นผิวในเวลา 20 นาที

โดย หลู กล่าวว่าวัสดุดังกล่าวเป็นเรซินที่มีประสิทธิภาพต้านไวรัสสูง โดยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ สามารถผลิตวัสดุออกมาในรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถใช้ได้แพร่หลายในสถานที่สาธารณะ เพื่อส่งเสริมการป้องกันโรคระบาดในชุมชน นอกจากนั้นวัสดุนี้ยังมีต้นทุนค่อนข้างต่ำด้วย

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในปี 2564 เพื่อผลิตที่จับถังขยะรีไซเคิล ที่คลุมลูกบิดประตูห้องน้ำ ปุ่มกดลิฟต์ แผ่นอักษรเบรลล์ และอื่นๆ โดยมุ่งหมายดำเนินการทดสอบเพิ่มเติม และทดลองประสิทธิภาพและความทนทานของวัสดุดังกล่าวในการฆ่าเชื้อไวรัส

ด้าน เจี่ยนจื้อเหว่ย (Kan Chi-wai) สมาชิกทีมวิจัยและศาสตราจารย์ที่สถาบันฯ กล่าวว่าหลังจากใช้งานมานาน 1 ปี ที่จับถังขยะรีไซเคิลยังอยู่ในสภาพดี และไม่มีเชื้อไวรัสโควิด-19 เชื้อแบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) และเชื้อแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) บนพื้นผิวของที่จับ

โดยระบุว่าผลทดสอบข้างต้นได้พิสูจน์ว่าอัตราประสิทธิภาพของวัสดุจะค่อยๆ ลดลงหลังจากใช้งานนาน 3 ปี และมีประสิทธิภาพต่อสู้กับเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย

ทั้งนี้ หลีว์ทิ้งท้ายว่าทีมวิจัยได้สิทธิบัตรของเทคโนโลยีดังกล่าว และนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปปรับใช้แล้ว โดยจะใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้าในอนาคต

ที่มา : ซินหัว

Back to top button