“หุ้นเอเชีย” ผันผวน! ดาวโจนส์กดดัน-จับตาข้อมูลเศรษฐกิจจีน
“หุ้นเอเชีย” ผันผวน! รับแรงกดดันจากดาวโจนส์ปิดลบ เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังผลประกอบการไตรมาส 4/64 ของธนาคารสหรัฐขนาดใหญ่-นลท.จับตาข้อมูลเศรษฐกิจจีนหลายรายการในวันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวผันผวนในเช้าวันนี้ โดยบางส่วนถูกกดดันจากดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดลบในวันศุกร์ (14 ม.ค.2565) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังการเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 4/2564 ของธนาคารสหรัฐขนาดใหญ่ในช่วงเริ่มต้นฤดูเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐ นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจจีนหลายรายการในวันนี้ รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2564
โดยดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 28,332.72 จุด เพิ่มขึ้น 208.44 จุด หรือ +0.74%, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,522.09 จุด เพิ่มขึ้น 0.83 จุด หรือ +0.02% และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 24,390.29 จุด เพิ่มขึ้น 6.97 จุด หรือ +0.03%
สำหรับภาวะการซื้อขายในภูมิภาคถูกกดดันหลังการเปิดเผยผลประกอบการของธนาคารรายใหญ่ในสหรัฐ โดยหุ้นเจพีมอร์แกน ดิ่งลง 6.26% หลังรายงานผลประกอบการที่อ่อนแอ และเตือนว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น, การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และรายได้จากการซื้อขาย จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ยอดค้าปลีกดิ่งลง 1.90% ในเดือนธ.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า อาจทรงตัวในเดือนดังกล่าว หลังจากเพิ่มขึ้น 0.20% ในเดือนพ.ย.
ด้านนักวิเคราะห์จาก ANZ Research ระบุว่า ตลาดหลายแห่งซึมซับข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังของสหรัฐในเดือนธ.ค. จากยอดค้าที่ปลีกดิ่งลง ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ปรับลดลง โดยได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูง 3 เท่า การขาดแคลนด้านอุปทานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน เราคาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะต้องปรับทวนตัวเลขประมาณการอัตราเงินเฟ้อและแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนข้างหน้าในการประชุมที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ดีนักลงทุนยังจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนหลายรายการนี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2564, การผลิตภาคอุตสาหกรรม, ยอดค้าปลีก, การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และอัตราว่างงานเดือนธ.ค. รวมถึงยอดสั่งซื้อเครื่องจักรเดือนพ.ย.ของญี่ปุ่น