“คันทรี่กรุ๊ป” มองกรอบดัชนี 1,660 – 1,690 จุด แนะสะสม 7 หุ้น “แลกการ์ด”
“คันทรี่กรุ๊ป” มองกรอบดัชนีสัปดาห์นี้ 1,660 – 1,690 จุด แนะสะสม 7 หุ้น “แลกการ์ด” ส่วนระยะสั้นเน้นหุ้นโภคภัณฑ์ PTTEP,BCP, SPRC และ TOP
ฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CGS เปิดเผยว่า วันศุกร์ที่ผ่านมาสหรัฐฯ รายงานยอดค้าปลีกประจำเดือน ธ.ค. ที่ -1.9% เทียบกับเดือนก่อน ต่ำกว่าตลาดคาดว่าจะทรงตัว ซึ่งน่าจะทำให้ตลาดผ่อนคลายกับประเด็นเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตามกลับพบว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 2 และ 10 ปี ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องพร้อมกับแนวโน้มดอกเบี้ยที่ Bloomberg Consensus ยังให้โอกาสสูงราว 96% ที่ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มี.ค.
ทั้งนี้ แม้เรื่องของดอกเบี้ยจะเป็นตัวกดดันเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนแต่เชื่อว่าราคาหุ้นปัจจุบันสะท้อนการปรับขึ้นดอกเบี้ย 3-4 ครั้งในปีนี้ไปพอสมควรแล้ว
ด้านในประเทศสัปดาห์นี้จะเริ่มเข้าสู่การประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/64 คาดกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดจะรายงานในสัปดาห์นี้ (เพิ่มเติม บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC) ซึ่งในสัปดาห์ก่อน บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานกำไรสุทธิดีกว่าตลาดคาด 8% ใส้ในได้แรงหนุนจาก (1) ค่าธรรมเนียมที่ขยายตัวโดยเฉพาะจากธุรกิจนายหน้าประกันภาย (2) สำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง 48% จากปีก่อน ดังนั้นแนวโน้มกำไรกลุ่มธนาคารที่จะประกาศออกมาในสัปดาห์นี้ก็น่าจะสดใสคล้ายกับ TISCO
โดยประเมินกำไรกลุ่ม Bank ไตรมาส 4/64 ภายใต้ที่ Coverage (ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB, ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB) 2.4 หมื่นล้านบาท (+12% จากปีก่อน -9% จากไตรมาสก่อน) สาเหตุของการลดลงจากไตรมาสก่อนเป็นผลจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามฤดูกาลแต่ขณะเดียวกันผลประกอบการไตรมาส 4/64 จะเป็นจุดต่ำสุดหนุนจากสินเชื่อที่จะเติบโตจากนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมที่จะดีขึ้น และค่าใช้จ่ายสำรองที่จะลดลงหลังจากได้ตั้งสูงไปก่อนหน้านี้ Top pick ได้แก่ BBL และ KBANK
ส่วนปัจจัยอื่นๆ ในสัปดาห์นี้ได้แก่ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศประจำเดือน ธ.ค. ในวันศุกร์ Bloomberg คาดมูลค่าส่งออกและนำเข้าขยายตัว +16% จากปีก่อน +20% จากปีก่อน หากออกมาสูงกว่าคาด น่าจะทำให้บรรยากาศการลงทุนเป็นบวกมากยิ่งขึ้น ในเชิงกลยุทธ์การลงทุนระยะกลางสะสมได้เช่นเดิมแต่เน้นหุ้นที่ Laggard อาทิ (บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ M, บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR, บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT, บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR) ส่วนระยะสั้นเน้นหุ้นโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมัน (บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP) โรงกลั่น (บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP, บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) SPRC, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) TOP) รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันยืนระดับสูงและค่าการกลั่นที่อยู่ระดับสูงเช่นกัน ประเมินกรอบ SET INDEX ทั้งสัปดาห์ 1,660 – 1,690 จุด
TOP (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 67 บาท) คาดกำไรปกติจะโตต่อเนื่องในปี 2565 หลังฟื้นตัวขึ้นมาจากผลขาดทุนในปี 2563 และมีผลประกอบการแข็งแกร่งในปี 2564 หนุนจาก 1) ค่าการกลั่นที่ดีขึ้น 2) ผลประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีที่มั่นคง และ 3) การรับรู้รายได้จากโครงการ CAP
กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF (ซื้อ / ราคาเป้าหมาย 16.5 บาท) เริ่มต้นบทวิเคราะห์ด้วยคำแนะนำ “ซื้อ” กองทุนฯ จะได้รับรายได้ที่มั่นคงจากกลุ่ม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ผู้เป็นเจ้าของสินทรัพย์และผู้เช่าหลักของกองทุนฯ ผ่านสัญญาเช่าระยะยาว ซึ่งจะหนุนให้มีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงไปอีกอย่างน้อย 10 ปี ขณะที่สัญญาระยะยาวมาพร้อมกับต้นทุนในการเลิกใช้บริการ (switching cost) ระดับสูงช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ทั้งยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย