TISCO ดีทุกด้าน ยกเว้นราคา
หุ้นบริษัทการเงินอย่างบริษัท TISCO รายงานผลงานประจำปีเร็วกว่าหุ้นกลุ่มธนาคารอื่น ๆ ตามเคย โดยแสดงผลงานดีตามคาด
หุ้นบริษัทการเงินอย่างบริษัท ทิสโก้ ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลงานประจำปีเร็วกว่าหุ้นกลุ่มธนาคารอื่น ๆ ตามเคย โดยแสดงผลงานดีตามคาด
เพียงแต่ปฏิกิริยาของตลาดต่อราคาหุ้นตัวนี้ก็มีลักษณะ “บ้านๆ” เพราะนอกจากจะไม่ขานรับลงทุนเท่านั้น หากยังร่วงลงมา ทำให้โอกาสจะทะลุแนวต้านราคาที่เหนือ 100 บาท ของนักวิเคราะห์ทุกสำนัก ยังคงเมินเฉยต่อการคาดเดาเป้าหมายเชิงบวกสำหรับปีใหม่ 2565 ที่ผู้บริหารแจกแจง เสียอีก
สะท้อนว่า หุ้นตัวนี้ ราคาเคลื่อนไหวตามใจชอบ……เหมาะสำหรับแฟนประจำขาใหญ่เท่านั้น
หลังจากการแจ้งงบการเงินสิ้นงวด 2564 ผ่านไป นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) เปิดเผยถึงแผนธุรกิจว่าทิศทางการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ มีแนวโน้มกลับมาเติบโตได้ หลังจากปีที่ผ่านมาสินเชื่อมีการหดตัว โดยคาดว่าการเติบโตของสินเชื่อในปี 65 จะเติบโตได้ 4-5% โดยเฉพาะจากสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจ “สมหวัง” ที่ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ปีนี้จะเน้นไปที่รถยนต์มือสอง และสินเชื่อรถแลกเงิน คาดว่าจะเติบโตได้ราว 3-4% และกลุ่มสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มองว่าในปีนี้จะเห็นความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อรองรับการลงทุนต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจด้านพลังงานและอสังหาริมทรัพย์ จึงคาดว่าสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ในปีนี้มีโอกาสเติบโตเป็นเลข 2 หลัก (2 digits)
กลยุทธ์ด้านสินเชื่อของธนาคารในครึ่งปีแรกจะยังคงเป็นการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง เนื่องจากในช่วงต้นปีนี้ยังมีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เข้ามากระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยอยู่บ้าง และมีผลต่อความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทำให้ธนาคารยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และติดตามสถานการณ์ แต่ในครึ่งปีหลังเชื่อว่าสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายลง ทำให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาเดินเครื่องได้เต็มที่ ส่งผลให้ธนาคารจะกลับมารุกในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้
ถึงแม้ว่าจะยังคงมีแรงกดดันของแนวโน้มของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในระดับ 2.44% แต่คงไม่ได้เพิ่มไปถึงระดับสูงสุดของปี 64 ที่ 3.98%
ในส่วนของการตั้งสำรองฯ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นแรงกดดันให้กำไรขึ้นน้อยกว่าคาด ในปีนี้คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนหลังจากได้ตั้งไปมากถึงกว่า 3 พันล้านบาทในปี 64 เพียงพอรองรับหนี้ในพอร์ต จึงคาดว่าปีนี้การตั้งสำรองฯ จะลดลงมาที่ระดับ 2 พันล้านบาท
ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมในปี 65 คาดว่าจะมีปัจจัยหนุนมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจนายหน้าขายประกันผ่านสาขาของธนาคาร ซึ่งในปีที่ผ่านมาชะลอตัวตามภาวะของเศรษฐกิจซึ่งทำให้คนชะลอการซื้อประกันภัยต่าง ๆ
ข่าวดีดังกล่าว หากนำไปเปรียบกับปี 2564 ที่เลวร้ายสุด ๆ งบการเงิน ก็ยังถือว่า TISCO ทำได้เยี่ยมยอดเกินคาดสำหรับช่วงเวลาที่เลวร้าย ดังจะเห็นได้จาก กำไรสุทธิสำหรับผลประกอบการงวดปี 2564 ของบริษัทมีจำนวน 6,781.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 717.99 ล้านบาทหรือ 11.8% จากปี 2563
สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจตลาดทุน โดยเฉพาะธุรกิจจัดการกองทุน การรับรู้กำไรจากเงินลงทุน และสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่ลดลง จนบริษัทมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยขยายตัวแค่ 9.7% จากปีก่อนหน้า เป็นรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น 46.2% ซึ่งมาจากการออกกองทุนใหม่ที่ได้รับการตอบรับที่ดี ประกอบกับค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการ (Performance Fee) ที่รับรู้ในไตรมาส 4
รายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 8.1% ตามปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังรับรู้กำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) ที่เพิ่มขึ้น
ในส่วนของค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวลง ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงจากมาตรการปิดเมืองในระหว่างปี และผลจากการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การปรับลดเพดานอัตราค่าธรรมเนียมของทางการ
กำไรสุทธิในส่วนของ TISCO ที่แม้จะไม่หวือหวาแต่การปรับท่าทีสร้างรายได้อย่างคล่องแคล่วของผู้บริหาร โดยปีนี้เน้นไปที่การรับรู้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการของธุรกิจจัดการกองทุน ในขณะเดียวกัน ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปรับตัวดีขึ้นจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ฟื้นตัวหลังจากคลายล็อกดาวน์
การที่นักวิเคราะห์ตั้งราคาเหมาะสม 112 บาทต่อหุ้นของ TISCO เป็นมุมมองที่ส่งเสริมอย่างดี แต่การบรรลุเป้าได้นั้น……พูดง่ายกว่าทำเสมอ
เหตุผลที่จะต้องเตือนกันไว้เพราะต้องถามใจ “คุณตลาด” ที่ยามนี้ มีอาการ “วัยทอง” ขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ