“เมย์แบงก์” อัพเป้า JMART-SINGER สนั่น! มองผลงานโตชัดเจนทุกธุรกิจ
“บล.เมย์แบงก์” ปรับเพิ่มราคาเป้าหมาย JMART-SINGER มองผลงานเติบโตอย่างโดดเด่นในทุกธุรกิจ โดยปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 65 ของ SINGER ขึ้น 18% เติบโต 89% เทียบกับปีก่อน
บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (24 ม.ค.65) ประเมินเกี่ยวกับหุ้น บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART โดยคาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานงวดไตรมาส 4/64 จะทำสถิติสูงสุดใหม่ได้ตามที่มองไว้เท่ากับ 402 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% จากไตรมาสก่อน, เพิ่มขึ้น 48% จากปีก่อน โดยไม่รวมกำไรพิเศษจากการปรับมูลค่าเงินลงทุนบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) SINGER หลังเพิ่มทุนที่อาจมีบันทึกราว 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้เป็นไตรมาสที่หลายธุรกิจเข้าสู่ช่วงไฮซีซันและฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้พร้อมกันโดยเฉพาะบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT (ยอดเก็บเงินสดทำสถิติใหม่ กองหนี้เพิ่มขึ้น)- SINGER (ยอดขายสินค้าซิงเกอร์ และขยายพอร์ตจำนำทะเบียน) – Mobile (สินค้าใหม่-ปรับโครงสร้างต้นทุน) หนุนภาพรวมปี 2564 มีกำไรปกติ 1,282 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% จากปีก่อน
สำหรับในปี 2565 มองว่าธุรกิจการเงินจะดีต่อเนื่องจากกำไร JMT เพิ่มขึ้น 65% จากปีก่อน จากการทยอยซื้อเก็บหนี้เสียในระบบ และ SINGER เพิ่มขึ้น 89% จากปีก่อน หลังเดินหน้าขยายพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียน หลังทั้งคู่มีความพร้อมด้านเงินทุน ทว่าธุรกิจอื่นในเครือยังมีพัฒนาการที่ดีขึ้นและเติบโตไม่น้อยกว่า 50%เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
1.Mobile คาดกำไร +68% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดรายได้เติบโตไม่น้อยกว่า +50%เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มสินค้ากลุ่ม PC,IT และขยายช่องทาง Online+Offline
2.KBJ ฟื้นตัว +38% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจะกลับมาขยายพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลระดับเท่าตัว และเตรียมตัวเข้าสู่ธุรกิจ Credit card ในสองปีข้างหน้า
3.บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J รับรู้รายได้โครงการใหม่ (Kubon) เต็มปี และเริ่มพัฒนาบ้านพักผู้สูงอายุเป็น S-Curve ใหม่ นอกจากนี้บริษัทกำลังพัฒนาตนเองเข้าสู่ธุรกิจ Technology ต่อเนื่องและมากขึ้นทั้ง JVentures (Crypto, Tech consultant, Platform) และ Thai Amazon (E-commerce platform) เพื่อ Disrupt ผู้เล่นเดิมในอุตสาหกรรม จะเริ่มชัดเจนในช่วงกลางปี
อย่างไรก็ตาม ประเมินกำไรสุทธิปี 2565-66 เท่ากับ 2,145/2,924 +67%/+36% จากปีก่อน ปรับขึ้น 10% จากสมมติฐานเดิมบนแนวโน้มกำไรของ SINGER-Mobile หลังการปรับกลยุทธ์การขายเชิงรุก เช่นเดียวกับราคาเหมาะสมปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 62.00 บาท/หุ้น อิงวิธี SOTP อย่างไรก็ดีเชื่อว่าหลายบริษัทในมือมีมูลค่าซ่อนอยู่ทั้ง KBJ-JVC แม้ปัจจุบันยังไม่มีสัดส่วนต่อกำไรอย่างมีนัยยะ ซึ่งหากมีการปลดล็อคหรือเข้าสู่โหมดเติบโตจะเป็นบวกต่อมูลค่ากิจการในอนาคต
พร้อมกันนี้ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ยังประเมินเกี่ยวกับ SINGER โดยมองว่ากำไรสุทธิไตรมาส 4/64 เท่ากับ 190 ล้านบาท เติบโต 15% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 53% จากปีก่อน ซึ่งเป็นอีกไตรมาสที่บริษัทจะทำสถิติใหม่ได้ต่อเนื่อง จากพัฒนาการบวกในทุกธุรกิจทั้ง
1.ธุรกิจเช่าซื้อคาดรายได้การขาย +60% จากไตรมาสก่อน เติบโตจากช่วงโลว์ซีซั่นและวางขายสินค้าใหม่ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า, สมาร์ทโฟน, ตู้แช่หมูกระทะและจากการระบายสินค้ายึดในช่วงปลายปี
2.ธุรกิจจำนำทะเบียน (C4C) ยังขยายสินเชื่อใหม่ได้ตามแผนเท่ากับ 5.8 พันล้านบาท +10% จากไตรมาสก่อน หนุนรายได้ดอกเบี้ย +6% จากไตรมาสก่อน
- เปอร์เซ็นต์ NPL อยู่ที่ 7.2% -30bps ตามสัดส่วน C4C ที่เพิ่มขึ้น โดยคุณภาพสินทรัพย์และอัตรากำไรในแต่ละธุรกิจยังแข็งแรงใกล้เคียงไตรมาสก่อน
ทั้งนี้ นอกเหนือจากอานิสงส์จากเงินเพิ่มทุนจะสนับสนุนการเติบโตพอร์ตสินเชื่อฯจาก 1.05 เป็น 1.67 หมื่นล้านบาท +60% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยต้นทุนการเงินที่ต่ำลงเริ่มเห็นผลตลอดในปีนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับธุรกิจเช่าซื้อ ผ่านการขยายตัวแทน (Franchise) จาก 3,000 เป็น 7,000 สาขา หรือเฉลี่ย +1,000 สาขา/ไตรมาส เพื่อครอบคลุมทุกอำเภอทั่วไทย ควบคู่ไปกับการเพิ่มสินค้า หมวดใหม่ๆ เช่น สินค้า Commercial สำหรับธุรกิจเล็กในชุมชน, IoTs, ทองคำ และล่าสุดร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ เช่น GUNKUL (แผงโซลาร์ฯ-กัญชง เป็น Upside risk ในอนาคต)
พร้อมกันนี้ ฝ่ายวิจัยปรับเป้ายอดขายขึ้น +10% เท่ากับ 3,840 ล้านบาท +20% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เมื่อรวมกับมาร์จิ้นที่ปรับตัวขึ้นจาก การประหยัดต่อขนาด ส่งผลให้คาดการณ์กำไรปี 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 1,245 ล้านบาท +89% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยประเมินแนวโน้มกำไรต่อหุ้น (EPS) สำหรับปี 2565-66 +16%/+30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเฉลี่ย (3Yr CAGR) +27% ต่อปี ด้วยการต่อยอดสินเชื่อที่ผลตอบแทนสูงกว่าสามารถเอาชนะ Dilution effect ที่เกิดขึ้นได้นอกจากนี้ธุรกิจจำหน่ายสินค้ากลับมาขยายได้เต็มตัวหลังเปิดเมืองเป็นอีกแรงหนุน จึงสมควรที่จะมี premium เหนือกลุ่มจำนำทะเบียนฯ ที่กำไรสุทธิใน 12 เดือนข้างหน้า เติบโต +10-15%เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และซื้อขายปัจจุบัน P/E 22-25 เท่า
อย่างไรก็ดี ปรับราคาเหมาะสมปี 2565 ขึ้น 11% เป็น 54.50 บาท/หุ้น อิง P/E’65 33 เท่า แนะนำรอติดตามแผน Spin-off หุ้น SGC ที่กำลังเกิดขึ้นในไตรมาส 2-3/64 รองรับความพร้อมเติบโตใน 3-5 ปีข้างหน้า ทำให้หุ้นกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง