พาราสาวะถี

สถานการณ์โควิด-19 จากที่ตัวเลขผู้ป่วยทรงตัวอยู่ในระดับ 7-8 พันรายต่อวันต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ ล่าสุดพบตัวเลขผู้ติดเชื้อไปอยู่ที่ 9,172 ราย


สถานการณ์โควิด-19 จากที่ตัวเลขผู้ป่วยทรงตัวอยู่ในระดับ 7-8 พันรายต่อวันต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ ล่าสุดพบตัวเลขผู้ติดเชื้อไปอยู่ที่ 9,172 ราย หากยังคงตัวเลขนี้หรือมีแนวโน้มสูงขึ้น นั่นย่อมเป็นสัญญาณที่ไม่น่าจะสู้ดีอย่างแน่นอน เพราะเวลานี้สองประเทศในเอเชียคือ ญี่ปุ่นและเวียดนาม ก็พบตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งประเมินสถานการณ์ รวมถึงประเมินมาตรการส่วนบุคคลของคนทั้งประเทศด้วยว่าการ์ดเริ่มตกกันหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่เห็นนั้น นายแพทย์ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวอธิบายให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น โดยชี้ว่าตนได้ประเมินไว้เมื่อ 19 ธันวาคม 2564 และย้ำอีกทีเมื่อ 26 ธันวาคม 2564 และ 3 มกราคม 2565 คาดว่านับจากวันที่ 17 ธันวาคม 2564 จะมีค่ามัธยฐานของระยะเวลาจนถึงพีกแรกราว 48 วัน และเคยบอกให้จับตามองวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 เพราะคือ 48 วัน

แน่นอนว่า ตัวเลขที่ 9,172 รายเป็นไปตามคาดการณ์ แต่สิ่งที่หมอธีระตั้งข้อสังเกตคือ ไทยเคยมียอดพุ่งครั้งแรกในระลอกโอมิครอนวันที่ 6 มกราคม 2565 จากนั้นก็ทรงตัวขึ้น ๆ ลง ๆ ระดับนั้นตลอดมา จนเป็นที่มาของการออกมาแถลงของหน่วยงานหนึ่งว่าผ่านจุดพีกไปแล้วกำลังเข้าขาลง แต่ต่อมามีการออกมาแถลงอีกครั้งว่ายังไม่พีก สร้างความงุนงงให้กับทุกคนในสังคม แต่ตนยืนยันมาตลอดว่า ดูเงื่อนเวลาตามธรรมชาติการระบาดแล้ว ไทยยังไม่น่าจะเข้าสู่พีก เพราะเอเชียเริ่มเจอระลอกโอมิครอนช้ากว่าทวีปอื่น

ตัวเลขติดเชื้อแบบก้าวกระโดดในเวียดนามและญี่ปุ่นจึงไม่ใช่เรื่องที่ทำให้มองว่ากระบวนการป้องกัน มาตรการและวิธีการบริหารจัดการไม่เหมือนประเทศไทย เราไม่จำเป็นต้องตระหนกตกใจอะไร ซึ่งเรื่องนี้นายแพทย์ธีระเตือนว่า อย่าเพิ่งชะล่าใจว่าพีกแล้ว เพราะอาจมีโอกาสที่จะสูงกว่านี้ได้อีก เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ส่วนใหญ่อัตราการติดเชื้อจะเพิ่มสูงมาก ขณะที่ไทยยังไม่เห็นลักษณะนั้นอย่างชัดเจน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากที่ประชาชนส่วนใหญ่ช่วยกันระมัดระวังตัวมากขึ้น

ปัจจัยที่ทำให้คนไทยต้องระวังก็คือ สภาพแวดล้อมทางนโยบายด้านสุขภาพและท่องเที่ยว นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แพร่เชื้อมากขึ้น อันเป็นผลจากจำนวนคนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเมื่อมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบเทสต์ แอนด์ โก ที่จะเพิ่มจำนวนคนต่างชาติในการเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ขณะเดียวกันการผ่อนคลายมาตรการของรัฐ ทำให้ประชาชนใช้ชีวิตประจำวัน ทำมาค้าขาย พบปะกันมากขึ้น เหล่านี้คือความเสี่ยง

คำเตือนส่งท้ายจากหมอธีระที่เป็นหมออาชีพไม่ใช่หมอการเมือง จึงเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องรับฟังและนำไปปฏิบัติ 15 วัน หรือราว 2 สัปดาห์ถัดจากนี้ อาจมีโอกาสเห็นการระบาดที่มากขึ้นได้ถ้าไม่ป้องกันให้ดี จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ อยู่รอดปลอดภัยไปด้วยกัน โควิดนั้นไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่กระจอก ที่ควรวิตกคือเรื่องภาวะอาการคงค้างระยะยาวหรือ Long COVID ดังนั้นไม่ติดย่อมดีที่สุด ที่หมอไม่บอกแต่คงอยากจะพูดคือ อย่าไปดีใจกับไอโอเรื่องโรคประจำถิ่นที่จะทำให้ประชาชนการ์ดตกเพราะคิดว่าโควิดไม่อันตรายแล้วนั่นเอง

ส่วนการเมืองเรื่องวุ่น ๆ ของขบวนการสืบทอดอำนาจยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธที่ผ่านมาล่มอีกแล้ว ถือเป็นครั้งที่ 15 ของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ซึ่งความจริงรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากจะต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำซาก สภาล่มแล้วล่มอีก ถ้ายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเชื่อว่าตัวเองมาจากการเลือกตั้งของประชาชนจริง ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องไม่หน้าทน สมควรจะยุบสภาได้แล้ว จะได้ไม่สร้างความเสียหายกับประชาชนและประเทศชาติ

อาจอ้างได้ว่าไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลหรือฝ่ายบริหาร แต่เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่ารัฐบาลนี้ตั้งขึ้นมาได้ ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็อ้างมาตลอดว่าการเข้าสู่ตำแหน่งของตัวเองไม่ได้เกิดจาก 250 เสียงของส.ว.ลากตั้ง หากแต่เป็นส.ส.ที่รวบรวมเสียงกันได้เกินกึ่งหนึ่งของสภา ถ้าต้องการเสียงเพียงแค่ยกมือให้ตัวเองเป็นผู้นำประเทศ แล้วหลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นในสภาไม่ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของตัวเอง เช่นนี้ถือว่าใช้ไม่ได้

ขึ้นชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลคือฝ่ายกุมเสียงข้างมากในสภา ถ้าไม่สามารถควบคุมส.ส.ในการที่จะนั่งเป็นองค์ประชุมเพื่อให้การพิจารณากฎหมายต่าง ๆ ผ่านกระบวนการไปได้ก็ถือว่าไร้ความรับผิดชอบ ไม่ต้องไปเรียกร้องความรับผิดชอบจากฝ่ายค้าน ไม่มีที่ไหนในโลกที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้าน เวลาเกิดปัญหาในสภาแล้วจะมาให้ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนตัวเองร่วมรับผิดชอบด้วย ในอดีตที่เพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็เห็นได้ชัดว่าฝ่ายค้านที่เป็นพรรคสำคัญในรัฐบาลปัจจุบันก็เล่นเกมนับองค์ประชุมแบบเดียวกัน

สิ่งสำคัญที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องตระหนักก็คือ พรรคแกนนำรัฐบาลได้เสียเสียงส.ส.ไปจำนวน 21 ที่นั่ง หากไม่มีการต่อรองเรื่องผลประโยชน์กัน อีกสองสัปดาห์ข้างหน้าที่จะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 152 ของพรรคฝ่ายค้าน แม้จะไม่มีการลงมติ แต่หากสถานการณ์ในสภายังเป็นเช่นนี้ มันย่อมกระทบต่อภาพลักษณ์และสะเทือนไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาล การที่มองว่าส.ส.ที่หายไปก็จะไปอยู่พรรคใหม่ที่เหมือนเป็นพรรคใต้ร่มเงาของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าจะสนับสนุนกันตลอดไป

สำหรับใครที่คิดว่าจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งได้อย่างไรในเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับยังไม่แล้วเสร็จ ตรงนั้นไม่ใช่ปัญหา บอกไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าถ้าหากมีการยุบสภาก่อนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จ กกต.มีอำนาจออกระเบียบในการเลือกตั้งให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ใช้บัตร 2 ใบได้ไม่ต้องห่วง โดยที่กกต.ก็แบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขตไว้เรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างจึงไม่มีปัญหา อยู่ที่ว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อข้างกายมองเหมือนที่คนทั่วไปมองหรือไม่ จะจบแบบเท่ห์ ๆ หรือรอโดนเทแบบตัวใครตัวมันต้องคิดให้ดี

Back to top button