อธิการบดีรวยปกติ?
ทำไมมหาวิทยาลัยถึงพยายามให้อาจารย์ตีพิมพ์งานวิชาการ tier 1 tier 2 ในเมื่อเราจะรวยก็จากการเป็นผู้บริหาร
คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน ประกาศตรวจสอบทรัพย์สิน ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ผู้สมัครผู้ว่า กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ว่าร่ำรวยผิดปกติหรือไม่
พรรคประชาธิปัตย์ออกมาโวยวาย ว่ากรรมาธิการที่ประธานเป็นฝ่ายค้าน โฆษกเป็นก้าวไกล เล่นเกมการเมืองเตะตัดขา จะมองอย่างนั้นก็ได้ แต่อย่าลืมว่ากรรมาธิการมีสัดส่วนรัฐบาลมากกว่า มีคนของประชาธิปัตย์เอง และไม่ได้มีอำนาจตัดสิทธิลงโทษสุชัชวีร์ เป็นการสู้กันด้วยวิธีตีแผ่ข้อมูลสู่สาธารณะ ถ้าสุชัชวีร์ชี้แจงได้ ฝ่ายค้านก็หน้าหงาย เผลอ ๆ จะได้คะแนนเห็นใจ
สู้กันแบบนี้ยังดีกว่าไปเที่ยวร้องยืมมือองค์กรไม่อิสระ กระบวนการไม่ยุติธรรม ทำลายล้างคู่แข่งทางการเมืองอย่างที่บางพรรคชอบนัก
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สังคมสนใจกว้างขวาง กลับไม่ใช่สุชัชวีร์รวย 342 ล้านทุจริตหรือไม่ แต่เป็นการแจ้งรายได้ปีละ 18.7 ล้าน จากเงินเดือน 1,410,870 บาท เงินประจำตำแหน่ง 5,094,000 บาท เบี้ยประชุมและโบนัส 5,500,000 บาท ค่าบรรยายและสอนพิเศษ 3,500,000 บาท
ทำให้ชาวบ้านอ้าปากค้าง “อาชีพอธิการบดี” รวยขนาดนี้หรือ เป็นธรรมไหมสำหรับอาจารย์ทั่วไป สำหรับนักศึกษาผู้เสียค่าหน่วยกิต และระบบการศึกษาไทยซึ่ง ร.ร.ขนาดเล็กต้องประกาศรับครูอัตราจ้างเงินเดือน 5,000
สุชัชวีร์เป็นคนเก่ง ระดับท็อปของประเทศ ใช่ครับ แต่เงินประจำตำแหน่ง เบี้ยประชุม โบนัส น่าจะหมายความว่าอธิการบดีลาดกระบังทุกคนได้รับในหลักเกณฑ์เดียวกัน เงินเดือน 1.4 ล้านถือว่าปกติสำหรับศาสตราจารย์ แต่เงินประจำตำแหน่งทำไมมากมายถึง 5 ล้าน (เดือนละ 400,000) เบี้ยประชุมโบนัส 5.5 ล้าน ประชุมกันอย่างไรวันละ 20,000 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอื่นอ้าปากค้าง ผู้บริหารบริษัทเอกชนยังเสียดาย รู้งี้ไปสมัครอธิการบดีดีกว่า
แล้วอาจารย์วิศวะลาดกระบัง รองอธิการบดี คณบดี ฯลฯ มีรายได้ลดหลั่นลงไปหรือเปล่า หรือได้เงินเดือนไม่กี่หมื่น น้อยกว่าสุชัชวีร์ยี่สิบเท่า
ประเด็น “อธิการบดีรวย” ไม่ใช่เพิ่งเป็นที่สนใจ หลังรัฐประหารใหม่ ๆ 8 อธิการบดีเข้าไปเป็น สนช. ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ก็ตกตะลึงกันมาแล้ว เมื่อพบว่าอธิการบดีรามคำแหงมีรายได้ปีละ 11.5 ล้านบาท มาจากค่าตอบแทน 10 ล้านบาท ขณะที่อธิการบดีขอนแก่น เกษตร ธรรมศาสตร์ นิด้า ได้ 1-2 ล้าน อธิการจุฬา-เชียงใหม่ ได้ปีละ 4 ล้านบาท
เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีการเปิดเผยทรัพย์สินอธิการบดีราชภัฏสวนสุนันทา ทั้งคนเก่าคนใหม่ มีรายได้จากโครงการบริการทางวิชาการ ร้อยละ 10 ของงบ ปีละสิบกว่าล้านบาทโดยสุจริต
นี่ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวสุชัชวีร์ แต่เป็นปัญหาทั้งระบบ มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หารายได้เอง (หลักสูตรพิเศษ หน่วยกิตแพง, ขายงานวิชาการให้เอกชนทำกำไร) ตั้งค่าตอบแทนกันเอง
บางมหาลัยออกหลักสูตรพิเศษชุบตัวอาเฮียอาซ้อให้มี ดร.นำหน้า แล้วตั้งตัวเองเป็นผู้บริหารหลักสูตร รับค่าตอบแทนสูงลิบ ตั้งพวกพ้องมารับค่าบรรยาย
ร้ายกว่านั้นคือ มหาวิทยาลัยของรัฐที่กลายเป็นธุรกิจการศึกษา ยังผูกขาดสืบทอดอำนาจในกลุ่มเดียวกัน “ชงเองกินเอง” ระหว่างกรรมการสภามหาวิทยาลัยกับอธิการบดี เช่นที่ ม.เชียงใหม่ออกข้อบังคับ การสรรหาอธิการบดีให้ใช้วิธีปรึกษาหารือ (ล็อบบี้กันเองในกรรมการ) ห้ามเลือกตั้งหรือหยั่งเสียง ใครยอมรับการเลือกตั้งหยั่งเสียงให้ตัดชื่อออก ใครสนับสนุนผิดวินัย
อาจารย์มหาวิทยาลัยทุกวันนี้ มีเสรีภาพทางวิชาการน้อยกว่าอดีต เงินเดือนค่าตอบแทนการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง สู้ครูประชาบาลยังไม่ได้ ถูกบังคับให้ทำผลงานวิชาการ ตีพิมพ์ใน “วารสารระดับโลก” (ซึ่งต้องจ้างลง) เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้หน้า ได้อันดับสูงขึ้นในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ถ้าไม่ทำผลงาน ถ้าไม่ได้ ผศ. รศ. ในเวลาที่กำหนด ต้องโดนออก
ลองคิดว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่กำลังอึดอัด เห็นบัญชีทรัพย์สินอธิการบดี (ไม่เฉพาะสุชัชวีร์) แล้วจะรู้สึกอย่างไร อาจารย์ท่านหนึ่งโพสต์ขำ ๆ
“ทำไมมหาวิทยาลัยถึงพยายามให้อาจารย์ตีพิมพ์งานวิชาการ tier 1 tier 2 ในเมื่อเราจะรวยก็จากการเป็นผู้บริหาร”