พาราสาวะถี

เพิ่งบอกไปว่าสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้เป็นสิ่งที่ต้องจับตากันให้ดี อาจมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา


เพิ่งบอกไปว่าสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้เป็นสิ่งที่ต้องจับตากันให้ดี อาจมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ประเด็นที่ว่าบางพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลอาจจะถอนตัวก็ดันไปสอดรับกับกรณีของ 7 รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย ลาประชุมครม.เมื่อวันวาน อ้างประเด็นการกักตัวที่มีส.ส.ของพรรคติดโควิดหลายราย แต่แท้จริงแล้วก็เป็นที่รู้กัน ไม่อาจร่วมสังฆกรรมกับการหารือเพื่อจะนำไปสู่การลงมติรับรองการพิจารณาผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เสนอโดยกระทรวงมหาดไทยได้

ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งหลังประชุมครม. ที่ทั้งโฆษกรัฐบาลและ วิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ไปทิศทางเดียวกัน เรื่องนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี จะต้องเอาเข้าคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เพราะถือว่าได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้วแต่ยังไม่เสร็จ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเพิ่งจะตั้งข้อสังเกต 4 ข้อ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจสั่งให้กระทรวงมหาดไทยกลับไปหาคำตอบจากคำถาม 4 ข้อดังกล่าวมานำเสนอต่อที่ประชุมครม.โดยเร็ว

ทั้งนี้ 4 ประเด็นข้อกังขาของกระทรวงคมนาคม ซึ่งความจริงแล้วต้องบอกว่าของพรรคภูมิใจไทยเสียมากกว่า เนื่องจากส.ส.คนดังของพรรคอย่าง สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ เป็นผู้ที่เปิดหน้าออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านในเรื่องนี้อย่างเปิดเผย และหลังจากที่ 7 รัฐมนตรีของพรรคลาประชุมครม. เจ้าตัวก็ได้นำส.ส.ของพรรคตั้งโต๊ะแถลงข่าวสนับสนุนท่าทีดังกล่าว พร้อมประโยคเด็ด “ขอบคุณที่กล้าสู้ แม้จะอยู่ในครม.ชุดเดียวกัน ขอบคุณที่ให้พวกผมได้สู้”

โดย 4 คำถามที่กระทรวงคมนาคมให้มหาดไทยตอบนั่นก็คือ ความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 การคิดค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้เกิดความถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไหร่ อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา

ประเด็นสุดท้ายคือ ข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณีกทม.ได้ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนั้นจึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน ขณะเดียวกันทางกระทรวงคมนาคมยังได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมเข้าไปประกอบด้วย

โดยชี้ว่าข้อมูลที่กทม.จัดทำเพิ่มเติมนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงในข้อเท็จจริงที่ทำให้การวิเคราะห์ของกระทรวงคมนาคมแตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะในประเด็นการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างและที่ดินตลอดแนวโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ช่วงยังคงเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เพราะยังไม่มีการโอนไปยังกทม. เหตุยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้าง และประเด็นการคำนวณค่าโดยสารและการรองรับระบบตั๋วร่วม รวมถึงความชัดเจนของประเด็นข้อกฎหมายที่ทางกทม.ยืนยันว่าจะเข้าดำเนินการตั๋วร่วมแต่จะไม่ยอมลงทุนเอง

ขณะเดียวกันถ้าย้อนกลับไปดูสิ่งที่ส.ส.รายนี้ของพรรคภูมิใจไทยเคลื่อนไหวได้เน้นไปที่การชี้แจงรายละเอียดของสัญญาจ้าง ทั้งสัญญาจ้างการวิ่งรถ เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่มีความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ต้องการทราบการคิดราคาค่ารถไฟฟ้าจากฐานใด แต่ยังไม่เคยได้รับรายละเอียด และไม่เคยมีหน่วยงานใดได้เอกสารเหล่านี้จากทางกทม. โดยที่กทม.จะต้องตอบอีกเรื่องคือรับโอนหนี้มาจากรฟม. ตามมติครม. ทางกทม.ได้ทำตามกระบวนการครบถ้วนแล้วหรือยัง

น่าสนใจตรงที่ว่าการเคลื่อนไหวประเด็นนี้ควรจะเป็นหน้าที่หลักของพรรคการเมืองที่มีส.ส.ในกทม. แต่กลับเป็นส.ส.ต่างจังหวัดของพรรคร่วมรัฐบาลที่ประกาศชัดว่าไม่สนพื้นที่เมืองหลวง เพราะพรรคมีฐานหลักอยู่ต่างจังหวัด นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลต่อเรื่องดังกล่าวจนพวกเดียวกันไม่สามารถที่จะปล่อยผ่านได้ หากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์เข้ามาผสมโรงด้วยกรณีนี้จะดูไม่จืด และมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างแน่นอน

ไม่เพียงเท่านั้น หากจับสัญญาณทางการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติ ปัญหาสภาล่มก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง ตรงนี้แม้จะมีความพยายามโยนให้เป็นภาระรับผิดชอบร่วมของพรรคฝ่ายค้าน แต่สังคมส่วนใหญ่กลับไม่ได้มองเช่นนั้น แม้กระทั่ง ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็มองไปทิศทางเดียวกันกับความเป็นจริงคือ ภาระหน้าที่ในการดูแลเสียงเพื่อให้องค์ประชุมของสภาเดินหน้าต่อในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เป็นสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคแกนนำต้องดูแล

เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งพูด ปีที่แล้วชวนก็เคยเตือนรัฐบาลต้องเตรียมคนให้พร้อม จริงอยู่ที่องค์ประชุมเป็นหน้าที่ของสภาฯ ทั้งหมด ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล แต่ระบบรัฐสภา รัฐบาลมาจากเสียงข้างมาก ดังนั้นฝ่ายรัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบในเบื้องต้น ต้องพยายามทำให้องค์ประชุมครบ เหตุผลที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องย้ำทุกครั้งในที่ประชุมครม.ให้หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคสั่งส.ส.ในสังกัดเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพียง เพราะหากมีกฎหมายใดที่เสนอโดยรัฐบาลเกิดมีปัญหามันคือหายนะของฝ่ายบริหาร

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ มีกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ นั่นก็คือ พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2564 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 กฎหมายทั้งสองฉบับรัฐบาลใช้อำนาจบริหารออกเป็นพ.ร.ก.ให้มีผลเป็นกฎหมายใช้บังคับไปก่อนแล้ว ถ้าสภาไม่อนุมัติทั้งสองฉบับต้องตกไป ถ้าอนุมัติก็ใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติ แต่หากสภาไม่อนุมัติไม่ได้จบแค่ว่ากฎหมายตกไป รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่ก็ต้องยุบสภา นี่แหละที่ต้องติดตามลุ้นกัน

Back to top button