โบรกฯ แนะสะสมหุ้น ‘ค้าปลีก-ท่องเที่ยว’

ตลาดยังคงได้รับจิตวิทยาเชิงลบจากตลาดต่างประเทศ ในประเด็นแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)


เส้นทางนักลงทุน

บล.ไอร่า มองตลาดยังคงได้รับจิตวิทยาเชิงลบจากตลาดต่างประเทศ ในประเด็นแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) หลังตัวเลข CPI ที่เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อตัวสำคัญของเฟดเร่งตัวขึ้นแรงกว่า บวก 7.5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ในเดือน ม.ค. สูงสุดในรอบ 40 ปี ขณะที่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา CME FED Watch Tools สะท้อนนักลงทุนให้น้ำหนักกว่า 94% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. นี้ ถึง 50% และจะขึ้นต่อเนื่องครั้งละ 25% ในแต่ละครั้งของการประชุม FOMC ในปีนี้ ซึ่งทำให้ในช่วงปลายปีนี้ดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะขึ้นไปแตะระดับ 175-200% คาดจะยังเป็นจิตวิทยาเชิงลบต่อการลงทุน จำกัดการปรับตัวขึ้นของตลาดได้อยู่

ขณะที่ความตึงเครียดในวิกฤตยูเครนเริ่มกลับมาเป็น Noise รบกวนตลาดทุนให้อยู่ในภาวะ Risk-off อีกครั้ง หลังการหารือกันระหว่าง ปธน.โจ ไบเดน และ ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน ไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เตือนรัสเซียอาจจะเริ่มบุกยูเครนในเร็ว ๆ นี้ หลังรัสเซียมีกองกำลังทหารกว่า 1 แสนคนใกล้พรมแดนยูเครน คาดจะกดดัน-จำกัด Upside การฟื้นตัวของทิศทางราคาสินทรัพย์เสี่ยง แต่มองเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบให้สามารถทรงตัว-ปรับตัวขึ้นได้ต่อในระยะสั้น

โดยล่าสุดราคาสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ส่งมอบเดือน มี.ค. 2565 เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่อีกครั้ง ปิดที่ระดับ 93.10 ดอลลาร์/บาร์เรล บวกไป 3.22 ดอลลาร์ หรือขึ้นไป 3.58% ซึ่งคาดจะหนุนหุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีปรับตัวขึ้น ช่วยประคองตลาดหุ้นไทยได้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการที่นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีนี้ซื้อไปแล้วกว่า 5.80 หมื่นล้านบาท แม้จะเผชิญความกังวลจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดก็ตาม ซึ่งคาดจะยังหนุนหุ้นในกลุ่ม BIG Cap. ปรับตัวขึ้นได้ต่อ

อย่างไรก็ตาม บล.ไอร่า เริ่มเห็นจำนวนสถานะคงค้างของ SET50 Index Futures วันศุกร์ที่ผ่านมาเริ่มลดลงเป็นวันแรกตั้งแต่ช่วง ก.พ. นี้ โดยลดลงสู่ระดับ 5.33 แสนสัญญา จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 5.43 แสนสัญญา คาดเป็นปัจจัยบ่งชี้แนวโน้มการเผชิญแรงขายทำกำไรของตลาดหุ้นไทย หลังเร่งตัวขึ้นแรงในช่วงก่อนหน้าได้

ทั้งนี้ ยังแนะนำให้ทยอยซื้อสะสมหุ้นในกลุ่มค้าปลีก ได้แก่ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO และ บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL ที่เริ่มกลับมามีความน่าสนใจอีกครั้งหลัง Valuation ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ โดย Price/Sale ของกลุ่มอยู่ที่ระดับ 0.84 เท่า หรืออยู่ที่บริเวณ -3 S.D. จากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีที่ระดับ 1.2 เท่า

อีกทั้งคาดผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มค้าปลีกจะเริ่มทยอยกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งหลังเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 และผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564

ขณะที่หุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT, บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC, บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL, บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW และ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT คาดอาจเห็นแรงเข้าซื้อเก็งกำไรระยะสั้นได้บ้าง หลัง ททท. ออกมาคาดการณ์ภาคการท่องเที่ยวไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และจะสามารถฟื้นตัวขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

รวมทั้งรัฐบาลตั้งเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ระดับ 10 ล้านคนในปี 2565 สูงกว่าที่คาดและตลาดคาดที่ราว 6 ล้านคน ขณะที่ Valuation ในปัจจุบัน ยังอยู่ในระดับต่ำจาก EV/Forward EBITDA อยู่ที่ระดับ 18.75 เท่า ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปีที่ระดับ 56.13 เท่า

นอกเหนือจากบทวิเคราะห์ของ บล.ไอร่า ว่าหุ้นดังกล่าว โดยกลุ่มค้าปลีก รวมถึงกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรมจะมีการฟื้นตัวแล้ว ยังมีโบรกเกอร์อื่นแนะนำ อย่างเช่น

บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL โดยทาง บล.เคทีบีเอสที ระบุว่าในบทวิเคราะห์ ประเมินว่า สำหรับปี 2565 คงกำไรสุทธิที่ 3.49 พันล้านบาท หลัก ๆ หนุนโดยรายได้ที่เติบโตเพิ่มขึ้น 9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมาจาก 1) การเปิดสาขาเพิ่มอีก 7-8 สาขา ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งบริษัทได้มีการเข้าไปลงทุนในบริษัทวัสดุก่อสร้างในอินโดนีเซีย คาดว่าจะรับรู้เข้ามาเป็น dividend income

ขณะที่ 2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐฯ อาทิ โครงการ ช้อปดีมีคืน 3) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังธุรกิจได้ปรับตัวกับสถานการณ์โควิด และ 4) อัตรากำไรขั้นต้นที่ 24.5% โดยคงมุมมองว่าราคาเหล็กอาจอ่อนตัวลงจากปี 2564 อย่างไรก็ตาม บริษัทจะยังมีการปรับ product mix เน้นสินค้าที่มีอัตรากำไร และเพิ่มสัดส่วนสินค้า House Brand มากขึ้น

ดังนั้นแนะนำ “ซื้อ” และราคาเหมาะสมของ GLOBAL ที่ 28.00 บาท อิง PER ปี 2565 ที่ 37 เท่า และคาดว่าผลประกอบการของ GLOBAL จะเติบโตได้ในระยะยาว โดยบริษัทยังมีแผนการขยายสาขา และปรับกลยุทธ์การขายเพื่อให้อัตรากำไรขั้นต้นให้สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่ากำไรสุทธิจะมีการเติบโตด้วยเฉลี่ยปี 2564-2565 ที่เพิ่มขึ้น 9%

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ  MINT โดยทาง บล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์ ประมาณการกำไรปกติในปี 2565 อยู่ที่ 2.1 พันล้านบาท ฟื้นตัวดีขึ้นจากปี 2564 ที่ขาดทุนสุทธิ 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่คาดว่าผลกำไรดำเนินงานปกติในไตรมาส 1 ปี 2565 จะยังคงขาดทุน แต่ฟื้นตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบทั้งจากงวดเดียวกันของปีก่อน และจากไตรมาสก่อน

แม้ว่าจะมีการระบาดของโอมิครอน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ความรุนแรงไม่มาก เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตน้อย ทำให้ประเทศฝั่งยุโรป โดยเฉพาะสเปน (สัดส่วนรายได้โรงแรมของ MINT ที่ 37%) และอิตาลี (สัดส่วนรายได้โรงแรมของ MINT ที่ 10%) โดยเชื่อว่าจำนวนผู้ติดเชื้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยปัจจุบันที่ยุโรปไม่มีการล็อกดาวน์ และสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติ

โดยทำให้เชื่อว่าโอมิครอนเกิดก่อนที่ยุโรปและสถานการณ์จะจบก่อนไทย ทำให้คาดว่าธุรกิจโรงแรมของ MINT จะฟื้นตัวได้เร็วที่สุดในกลุ่มท่องเที่ยวจากยุโรปที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าไทย เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มเป็นขาขึ้น ดังนั้นแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 40.00 บาท ขณะที่มี upside หากการท่องเที่ยวในยุโรปฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด

อย่างไรก็ตาม เป็นการสมมติฐานว่ากลุ่มค้าปลีกและท่องเที่ยวจะทยอยกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง หลังเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 และผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

Back to top button