ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร&หุ้นกู้ BCH ที่ “A-” แนวโน้ม Stable
ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร&หุ้นกู้ BCH ที่ "A-" แนวโน้ม Stable
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือBCH ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่”
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจรักษาพยาบาลในกลุ่มคนไข้ที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงระดับต่ำ รวมทั้งฐานรายได้ที่หลากหลายของบริษัท อย่างไรก็ตาม การประเมินอันดับเครดิตยังคำนึงถึงภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นของบริษัทจากการขยายธุรกิจ ตลอดจนผลการดำเนินงานที่ลดลงของโรงพยาบาล World Medical Center (WMC) และการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจรักษาพยาบาล นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสุขภาพของภาครัฐและความเสี่ยงจากการขยายธุรกิจในอนาคตด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับปานกลางและกลุ่มลูกค้าประกันสังคมเอาไว้ได้ รวมทั้งโรงพยาบาล WMC จะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในอนาคตด้วย ในขณะเดียวกัน ยังคาดหวังว่าบริษัทจะดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวังสำหรับการลงทุนในอนาคต รวมทั้งรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ที่ประมาณ 50% เพื่อที่จะคงคุณภาพเครดิตของบริษัทเอาไว้
อันดับเครดิตมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มอัตราการทำกำไรและรักษาระดับอัตราการก่อหนี้ที่เหมาะสมเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างมากจากระดับปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานและสภาพคล่องของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากและกระแสเงินสดที่รองรับการชำระหนี้ที่อ่อนแอต่อเนื่องก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
BCH ก่อตั้งในปี 2536 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2547 โดยมีตระกูลหาญพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นหลัก ณ เดือนพฤษภาคม 2558 ในสัดส่วน 50% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท ปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและบริหารกิจการโรงพยาบาลจำนวน 11 แห่งและคลินิกชุมชน 2 แห่ง บริษัทมีโรงพยาบาลที่เปิดดำเนินการภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลเกษมราษฎร์” 6 แห่ง ภายใต้แบรนด์ WMC 1 แห่ง และภายใต้แบรนด์ใหม่คือ “การุญเวช” อีก 4 แห่ง โรงพยาบาลแต่ละแห่งของบริษัทมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดย WMC เน้นรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง โรงพยาบาลเกษมราษฎร์เน้นรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับปานกลาง และโรงพยาบาลการุญเวชเน้นรองรับกลุ่มลูกค้าในโครงการประกันสังคม บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มคนไข้เงินสดอยู่ที่ 65% ของรายได้รวม และจากกลุ่มคนไข้โครงการประกันสังคมอยู่ที่ 35% ของรายได้รวม
ในเดือนเมษายน 2558 บริษัทซื้อทรัพย์สินของบริษัทโสธราเวช จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยบริษัทได้จัดตั้งบริษัทย่อยใหม่เพื่อซื้อทรัพย์สินในครั้งนี้ ชื่อว่า บริษัท โสธรเวชกิจ จำกัด โดยมีทุนจดทะเบียน 350 ล้านบาท บริษัทได้ถือหุ้นทั้งหมด 76% ในบริษัทย่อย และได้เปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลเป็น “โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ฉะเชิงเทรา” บริษัทมีต้นทุนค่าซื้อกิจการดังกล่าวจำนวน 400 ล้านบาท บริษัทมีรายได้จากโรงพยาบาลแห่งใหม่ในสัดส่วนที่ยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับรายได้รวมทั้งหมด
บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการสุขภาพภาครัฐ โดยในระยะกว่า 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีสัดส่วนจำนวนผู้ประกันตนในโครงการประกันสังคมในเขตกรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณ 9%-11% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 สัดส่วนจำนวนผู้ประกันตนในโครงการประกันสังคมในเขตกรุงเทพฯ ยังคงแข็งแกร่งที่ 11% การมีฐานจำนวนผู้ประกันตนจำนวนมากช่วยให้บริษัทมีความได้เปรียบจากการประหยัดจากขนาดและยังช่วยคงระดับการใช้งานเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีต้นทุนสูงไม่ให้ต่ำเกินไปด้วย
ในปี 2557 รายได้ของบริษัทเติบโตขึ้น 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็น 5,301 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2,684 ล้านบาท เติบโตขึ้น 4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทลดลงจากเดิมที่ระดับ 26.7% ในปี 2556 มาอยู่ที่ระดับ 25.3% ในปี 2557 และอยู่ที่ 22.1% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 สาเหตุหลักที่ทำให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานลดลงมาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้นในช่วงขยายธุรกิจประกอบกับผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงของ WMC ด้วย ทั้งนี้ อัตราการทำกำไรสุทธิของบริษัทลดลงจาก 12.4% ในปี 2556 มาอยู่ที่ระดับ 9.8% ในปี 2557 และ 7.2% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 จากสาเหตุหลักคือการขาดทุนของ WMC
ในส่วนของ WMC นั้นได้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 ขณะนี้อยู่ในช่วงระยะเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจและยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อถึงจุดคุ้มทุน ในปี 2557 WMC มีผลขาดทุนสุทธิ 287 ล้านบาทและ 136 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 ผู้บริหารของบริษัทคาดว่า WMC จะมีจุดคุ้มทุนในปี 2559 อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้ง กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 23%-24% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า
บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากการขยายธุรกิจ โดยหนี้สินรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 2,051 ล้านบาทในปี 2555 เป็น 4,513 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 33.54% ในปี 2555 เป็น 48.66% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ในอนาคต บริษัทมีแผนลงทุนเพิ่มเติมราว 2,500 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้ของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีสถานะสภาพคล่องที่ยอมรับได้ที่ระดับอันดับเครดิตในปัจจุบัน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2558 บริษัทยังคงมีสภาพคล่องที่น่าพอใจ โดยวัดจากอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายที่ระดับ 7.85 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเท่ากับ 24.63% (ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) เงินสดในมือของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 อยู่ที่ประมาณ 360 ล้านบาท ในขณะที่กระแสเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1,081 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 ภาระหนี้สินรวมของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาท