“กกพ.” วาง 3 เป้าหมายปี 65 เร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน-บริการ รับมือพลังงานขาขึ้น

“กกพ.” วางเป้าปี 65 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับการให้บริการ ดูแล กิจการพลังงาน รองรับนโยบายการเพิ่มการแข่งขันของเอกชนในภาคพลังงานการพัฒนา กำกับเพื่อรองรับเทคโนโลยีด้านพลังงานบนกระแส Go Green


นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. เปิดเผยว่า ในปี 2565 สำนักงาน กกพ. วางเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานกำกับ ดูแลภาคพลังงาน ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานงานกำกับ ดูแลกิจการพลังงานอย่างต่อเนื่องรองรับแนวโน้ม การเพิ่ม การแข่งขัน ในภาคพลังงาน โดยจะทยอยเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในธุรกิจพลังงาน เพื่อมุ่งสู่การเปิดเสรี ภาคพลังงานไทยในอนาคต

สำหรับแผนงาน และบทบาท ภารกิจ ของ กกพ. และสำนักงาน กกพ. ภายใต้ พ.ร.บ. การประกอบ กิจการพลังงาน 2550 ที่จะดำเนินการในปีนี้ กกพ. กำลังเดินหน้าปรับปรุงโครงสร้าง พื้นฐานงานกำกับ ทั้งใน ส่วนของ กิจการก๊าซธรรมชาติ  และกิจการไฟฟ้า รองรับนโยบายการเพิ่มการแข่งขัน และแนวโน้ม การเปิดเสรีในภาคพลังงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้กระแสพลังงานสะอาดจะเป็นปัจจัย สำคัญ ที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่เราต้องปรับตัว ควบคู่กับบทบาทหลักที่ต้องดูแลมาตรฐาน และความเป็นธรรม ในภาคพลังงาน

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า เป้าหมายแรก ได้แก่ การปรับโครงสร้างพื้นฐานในงานกำกับกิจการพลังงาน ทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ จะอยู่บนพื้นฐานของการเปิดโอกาสให้บุคคลที่ 3 คือภาคเอกชน สามารถเข้ามา ร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐานทั้งโครงข่ายพลังงานทั้งไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ คลังเก็บก๊าซธรรมชาติ ซึ่งกำลัง อยู่ระหว่างศึกษาปรับปรุงหลักเกณฑ์ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และทยอยประกาศอย่างต่อเนื่อง

โดยมาตรการอื่นๆ ที่สำคัญ และยังอยู่ระหว่างการปรับปรุง ได้แก่ การวางแนวทาง จัดทำหลักเกณฑ์ ข้อกำหนดการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Framework Guideline) เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้รับใบอนุญาตระบบส่งไฟฟ้าหรือ ผู้รับใบอนุญาตระบบจำหน่าย ไฟฟ้าไปดำเนินการจัดทำข้อกำหนดการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Code) และเปิดให้บริการรับส่งพลังงานไฟฟ้าแก่ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่สนใจ ภายใต้กรอบนโยบาย ต่อไป โดย Third Party Access Framework Guideline จะทยอยนำเข้าสู่การพิจารณาของ กกพ. อย่างต่อเนื่อง

สำหรับเป้าหมายที่สอง คือ การปรับตัวเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และกระแสพลังงานสีเขียว (Go Green Energy) ได้แก่การสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ในการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และธุรกิจต่อเนื่องได้แก่สถานบริการประจุไฟฟ้า (EV Charging Station)

โดยทางสำนักงาน กกพ. ได้ผลักดันมาตรการสนับสนุนการติดตั้งตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ โดยการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์และยกเวันค่า Demand Charge ภายใต้เงื่อนไขการบริหารจัดการแบบ Low Priority หรือ การใช้ไฟฟ้าสำหรับ สถานีอัดประจุไฟฟ้า มีความสำคัญเป็นลำดับรอง เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมตามแนวทางของรัฐบาล ในส่วนของมาตรการส่งเสริม EV Charging Station

ทั้งนี้ ด้านการกำกับดูแลคุณภาพ และมาตรฐานการให้บริการไฟฟ้า สำนักงาน กกพ. ได้ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ยังร่วมกันจัดทำมาตรฐานการติดตั้ง ทางไฟฟ้าสำหรับจุดจ่ายไฟยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการอัดประจุไฟฟ้า สำหรับประเภทบ้านอยู่อาศัย อาคารชุด อาคารสำนักงาน และสำหรับประเภทสถานีอัดประจุไฟฟ้า นอกจากนี้ หน่วยงานการไฟฟ้า ได้ดำเนินการออกมาตรฐาน และความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน มาตรฐานของอุปกรณ์ ที่ใช้เชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้ารวมทั้งข้อกำหนด การเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า ที่เกี่ยวข้องกับ EV Charging Station ภายใต้การกำกับดูแลของ กกพ.

โดยในช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีทางด้านพลังงาน (Energy Transition)  สำนักงาน กกพ. ก็จะมุ่ง สนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน ลดสัดส่วนการพึ่งพาเชื้อเพลิง ฟอสซิลนำเข้าให้สอดรับกับกระแสการพัฒนาพลังงานสะอาด และพลังงานสีเขียว อาทิ การพัฒนาระบบ การกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อสร้างเสถียรภาพ และความมั่นคงทางพลังงาน การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน ทดแทน (RE) และการส่งเสริมผู้ใช้ไฟฟ้าให้สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Prosumerization)

นายคมกฤช กล่าวว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทาง ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้มีความทันสมัย สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านพลังงานระดับสากล สำนักงาน กกพ. จะได้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 2 ภายในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งในการเปิดรับสมัครครั้งนี้จะมุ่งเน้นการทดสอบแพลตฟอร์มหรือนวัตกรรมที่รองรับการซื้อขายพลังงานทดแทนร่วมกับกลไกการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนนโยบายการกำกับ ดูแล กิจการพลังงานของ กกพ. ที่มุ่งเน้นการกำกับเชิงรุก แทนการกำกับดูแลตามหลังซึ่งไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

สำหรับเป้าหมายที่สาม การกำกับ ดูแล ในมิติทางสังคม และการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานในปี 2565 จะมุ่งยกระดับ และสร้างความเข้มข้นกับการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ การศึกษา เพื่อปรับปรุงงานคุ้มครองผู้ใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การยกระดับมาตรฐานสัญญาผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย ผ่านคำประกาศสิทธิผู้ใช้บริหารไฟฟ้า เพื่อทราบถึงสิทธิและข้อปฏิบัติในการใช้บริการไฟฟ้า อันจะเป็นประโยชน์ในการปกป้องคุ้มครองผู้ใช้บริการไฟฟ้าให้ได้รับความเป็นธรรม อาทิ สิทธิการเข้าถึง ข้อมูลการใช้บริการไฟฟ้า สิทธิการได้รับบริการตามมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการไฟฟ้า สิทธิการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการไฟฟ้า และสิทธิการร้องเรียนปัญหาการใช้บริการไฟฟ้า

ดังนั้นการขยายขอบเขตการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ใช้ไฟฟ้า ได้แก่ แนวทางปฏิบัติการดำเนินการ รับเรื่องร้องเรียน ผลักดันให้มีการจัดระเบียบสายสื่อสารและอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้า เพื่อลดความเสี่ยงจาก และอันตรายในพื้นที่สาธารณะ โดยมีสำนักงาน กกพ. ประจำเขต ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ เป็นเจ้าภาพหลักในการดูแล รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ผู้ใช้พลังงาน รวมไปถึงการให้คำปรึกษา และให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในภาคประชาชน อาทิ โครงการโซลาร์รูฟท๊อป ตลอดจนให้สำนักงาน กกพ. ประจำเขต เป็นสถานที่สำหรับรวบรวมขยะพลังงาน เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี อาทิ เช่นแผงโซลาร์เซลส์ชำรุด หรือหมดอายุ เป็นต้น

สำหรับบทบาทในการกำกับ ดูแล กองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ ตามมาตรา 97(3) เพื่อการพัฒนา หรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าก็ได้มีการกระจาย อำนาจในการพิจารณา จัดทำ และอนุมัติโครงการพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าสู่พื้นที่ พร้อมกับให้มีการต่อยอดกับโครงการ ในระบบงบประมาณของส่วนราชการในพื้นที่ การยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ และกำกับดูแล ซึ่งสามารถทำให้การจัดทำโครงการสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ จัดวางระบบการกำกับ ตรวจสอบ การใช้เงินด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และชุมชนในพื้นที่ด้วย

นายคมกฤช กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายจากการดำเนินการมาตรการดังกล่าวข้างต้น เพื่อมุ่งสร้างกลไก การกำกับ ดูแล กิจการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคพลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ ทั้งยังสามารถดูแลการประกอบกิจการ การให้บริการ และดูความเป็นธรรมให้เกิดขี้นในภาคพลังงานไทยสามารถปรับตัวให้ทันต่อการ เปลี่ยนแปลงของภาคพลังงานระดับสากล

Back to top button