กยท.คาดส่งออก “ยางพารา” ปีนี้โต 2% สวนทางวิกฤตยูเครน-รัสเซีย
กยท.คาดการณ์ปริมาณการส่งออกยางพาราไทยปีนี้จำนวน 4.21 ล้านตัน เติบโต 2% ดีกว่าปี 2564 แม้จะเผชิญกับวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน แต่เนื่องจากปริมาณยางพาราออกสู่ตลาดน้อยลง ท่ามกลางความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง เปิดเผยว่า การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ได้รายงานคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.90 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.48%
ขณะที่ปริมาณการส่งออกยางพาราในปีนี้คาดว่า มีปริมาณ 4.21 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.03% ซึ่งในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีน 54% รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 6% ญี่ปุ่น 5% และเกาหลีใต้ 3%
โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเสถียรภาพและราคายาง ได้แก่ การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะประเทศจีน ตลอดจนการเกิดปัญหาสงครามรัสเซียยูเครน ที่ส่งผลต่อค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ กยท. ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลทั้งทางบวกและทางลบต่อราคายาง และการส่งออกของไทย
ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. เปิดเผยว่า สถานการณ์และแนวโน้มราคายางพาราในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ราคายางทุกชนิดมีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ราคายางก้อนถ้วยอยู่ที่ 50 บาทต่อกิโลกรัม ยางแผ่นดิบ ราคา 60.60 บาทต่อกิโลกรัม ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคา 63.77 บาทต่อกิโลกรัม เช่นเดียวกับราคาน้ำยางสดราคาขึ้นไปถึง 64.50 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้เหตุผลที่ทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง เพราะขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดกรีดยาง ประกอบประเทศผู้ปลูกยางรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย เวียดนาม เผชิญกับการระบาดของโรคใบร่วงชนิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียเกิดการระบาดเป็นวงกว้าง มีสวนยางพาราได้ผลกระทบมากกว่า 2 ล้านไร่ จึงทำให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการใช้ยางกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยาง