EA จับมือ “MEA-JR” ผุดปั๊ม EV ทั่วไทย หนุนเปลี่ยนผ่านสู่สังคม “รถยนต์ไฟฟ้า”
EA ส่ง EMN ลงนามบันทึกความเข้าใจ MEA และ JR โครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หนุนความคล่องยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ประเดิม 2 โครงการแรก พร้อมต่อยอดความร่วมมือยานยนต์ไฟฟ้าชนิดอื่น ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไร้มลพิษอย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด (EMN) ซึ่งบริษัทย่อย ของ EA ได้ดำเนินธุรกิจให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้เครื่องหมายการค้า “EA Anywhere” ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับการไฟฟ้านครหลวง และบริษัท เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู. ยูทิลิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JR ในโครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Smart Charging Station)
สำหรับวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า โดยส่งเสริมการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้มีความคล่องตัวสูงขึ้น จึงได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Smart Charging Station) ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า
โดย กฟน. จะอำนวยความสะดวกในการดำเนินการขอใช้ไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า และ JR จะเป็นผู้วางแผนและดำเนินโครงการด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทร่วมกับ EMN
ขณะที่ปัจจุบัน EA Anywhere มีสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้ากว่า 430 สถานี รวมทั้งสิ้นกว่า 1,800 หัวชาร์จ ตั้งแต่ระบบธรรมดา หรือ AC Charger ไปจนถึงระบบชาร์จเร็ว และทันสมัยที่สุด หรือ DC Ultra-Fast Charge ที่ใช้เวลาเพียง 15-20 นาที รวมทั้งยังอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการด้วย Application “EA Anywhere” ระบบออนไลน์ที่สามารถดำเนินการทั้ง จอง จ่าย และชาร์จในคราวเดียวกัน โดยปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดใช้งานแล้วกว่า 33,000 ครั้ง EA Anywhere จึงนับเป็นทั้งผู้บุกเบิก และครองความเป็นผู้นำในธุรกิจให้บริการอัดประจุไฟฟ้า สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ EA ที่ต้องการเป็นผู้นำยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร
“ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไร้มลพิษให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 พร้อมนโยบายสนับสนุนด้านต่างๆ รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) สาธารณะกระจายทั่วประเทศ” นายสมโภชน์ กล่าว
ด้านนายจรัญ วิวัฒน์เจษฎาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JR กล่าวว่า โครงการนี้ JR ทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบ จัดหา และติดตั้งระบบส่ง และโครงข่ายไฟฟ้า รวมถึงออกแบบพัฒนาระบบอนุรักษ์พลังงานร่วมกับ บริษัท พลังงานมหานคร (บริษัทย่อยของ EA) ในการหาสถานที่ติดตั้งสถานีอัดจุไฟฟ้ที่หมาะสม ทั้งขนาด จำนวนและสถานที่ติดตั้งสำหรับโครงการเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ในประเทศไทย
สำหรับ JR ในฐานะผู้นำในการวางระบบ ICT และไฟฟ้าของไทย มีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์มายาวนานกว่า 28 ปี ในการวางระบบสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโปรเจคนี้ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม