พาราสาวะถี

แพทย์ชนบทระบุขณะนี้ยาฟาวิพิราเวียร์ที่เป็นยาหลักในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขาดแคลนในหลายจังหวัด


ยอมรับความจริงเสียก็สิ้นเรื่องว่ายังคงมีปัญหาการบริหารจัดการ ประเด็นชมรมแพทย์ชนบทระบุขณะนี้ยาฟาวิพิราเวียร์ที่เป็นยาหลักในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขาดแคลนในหลายจังหวัด แต่คล้อยหลังจากนั้นทั้ง อนุทิน ชาญวีรกูล เจ้ากระทรวงคุณหมอ และบรรดาหมอการเมืองที่ใกล้ชิดฝ่ายบริการต่างก็ออกมาตอบโต้ ยืนยันว่าไม่มีขาดแคลน แต่ก็โยนให้เป็นหน้าที่ของสาธารณสุขจังหวัดหรือสสจ.ที่ได้มีการกระจายยาไปแล้วในการที่จะรับผิดชอบการบริหารจัดการหลังจากนั้น

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ถึง 24 ชั่วโมงจากที่เสี่ยหนูและหมอการเมืองทั้งหลายดาหน้าตอบโต้แพทย์ชนบท ไม่ทราบว่าเกรงจะถูกกระชากหน้ากาก หรือมีใครนำข้อมูลที่เป็นจริงมาเปิดเผยไม่ทราบ นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็ตั้งโต๊ะแถลงข่าว อ้างว่าที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น เพราะในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยสูงขึ้น จึงมีการใช้ยาเพิ่มและไม่ได้คีย์ข้อมูลเป็นปัจจุบัน มาคีย์ครั้งเดียว ทำให้ส่วนกลางไม่ทราบว่าบางพื้นที่มีการใช้ไปเท่าไหร่ จึงเป็นเหตุให้เติมไม่ทันแต่ยาไม่ได้ขาด

ยังติ๊ดชึ่งไปได้น้ำขุ่น ๆ การเติมไม่ทันนั่นแหละที่หมายถึงว่าขาด ข้ออ้างที่ว่ามีการบริหารจัดการในจังหวัด โรงพยาบาลข้างเคียงส่งไปเติมได้ ก็ถ้าเติมกันทันไม่เป็นปัญหาชมรมแพทย์ชนบทจะออกมาโวยเพื่ออะไร ในเมื่อความเป็นจริงก็เห็นกันอยู่ ทุกจังหวัดมีปัญหาการแพร่ระบาดพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่ต่างกัน คงต้องหัดยอมรับความจริงกันแล้วก็แก้ไขให้เรียบร้อยอันเป็นวิสัยของคนดี ไม่ใช่แก้ตัวกันไปแบบนี้ยิ่งทำให้ประชาชนกังขาและเสื่อมศรัทธากันเปล่า ๆ

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงต่อมาก็คือ ข้อมูลถึงวันที่ 28 มีนาคม มียาฟาวิพิราเวียร์คงคลังทั่วประเทศ 22.8 ล้านเม็ด ขณะที่ปัจจุบันมีการใช้ยาสูงเฉลี่ยวันละ 2 ล้านเม็ด นั่นเท่ากับว่ายาที่มีในสต๊อกสามารถใช้ไปได้อีก 10 วัน แม้จะมีการยืนยันว่ามีการหายามาเติมตลอดเวลา แต่ต้องไม่ลืมว่าหลังเทศกาลสงกรานต์หากตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นกว่าปกติตามฉากทัศน์ที่วางกันไว้ ตรงนี้ได้มีการวางแผนในการสำรองยาดังกล่าวไว้หรือไม่ เมื่อมีปัญหาบริหารจัดการกันแบบนี้ก็ต้องทักท้วงกันไว้แต่เนิ่น ๆ

วิจารณ์กันสนั่นทำเนียบรัฐบาลอีกแล้ว กับการประชุมครม.วันวานหลังจากที่มีกระแสข่าวรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยไม่เข้าร่วมประชุม เพราะจะมีการนำวาระการขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของกรุงเทพมหานคร เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัท ในเครือบีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปี เข้าสู่การพิจารณา ซึ่งพรรคภูมิใจไทยคัดค้านในเรื่องดังกล่าว

แต่ข่าวก็เป็นเพียงกระแสเมื่อพบว่ารัฐมนตรีของภูมิใจไทยเข้าร่วมประชุมกันพร้อมหน้า ขาดเพียงเสี่ยหนูที่เดินทางมาสมทบในช่วงบ่าย แน่นอนว่าแม้ข่าวจะไม่เป็นจริงแต่นั่นไม่ใช่เป็นเพราะฝ่ายคัดค้านยินดีที่จะให้มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมได้ เพราะผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ชี้แจงหลังการประชุมครม.ว่าเหตุที่ยังไม่มีการนำเสนอให้ที่ประชุมครม.พิจารณา เพราะกระทรวงมหาดไทย กทม.และกระทรวงคมนาคมยังคุยกันไม่ลงตัว

ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ประเด็นที่พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยนั้นคงไม่ใช่เรื่องหลักสำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและฝ่ายที่เดินหน้าผลักดันเรื่องนี้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะแนวทางที่ประกาศกันมาตั้งแต่ไก่โห่ การันตีวิธีการทำให้ผ่านด้วยมติเสียงข้างมากในที่ประชุมครม.โดยเนติบริกรศรีธนญชัย ยังไงก็ไม่มีปัญหา แต่จุดใหญ่ที่เคยบอกไปตั้งแต่แรกแล้ว หากดันทุรังกันตอนนี้กับจังหวะที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รับรองได้เลยว่าผู้สมัครในซีกของฝ่ายกุมอำนาจโดนถล่มเละและส่งผลต่อการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

อย่าลืมเป็นอันขาดข้อมูลในความไม่ชอบมาพากลที่ฝ่ายตรงข้ามมีอยู่ในมือ แม้ในทางปฏิบัติฝ่ายสืบทอดอำนาจจะใช้ไอโอลบล้าง หรือให้เนติบริกรคอยแก้ต่างด้วยกลวิธีอันแยบยล แต่ในการเลือกตั้งหากมีการนำไปใช้ในการหาเสียง แล้วเลือกตีจุดที่ประชาชนจะเสียประโยชน์ อันเป็นผลมาจากการกระทำของฝ่ายรัฐบาล คนย่อมหวาดกลัวและตัดสินใจกันได้ไม่ยาก การเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 9 กทม.ชาวกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งก็ได้ให้บทเรียนอันล้ำค่ามาแล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น ประเด็นการต่อสัญญาดังกล่าวยังมีปมไปผูกกับคำสั่งของคสช.ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นผู้ลงนามเอง ดังนั้นหากดันทุรังให้ผ่านที่ประชุมครม.กันในช่วงนี้ บรรดาผู้สมัครในซีกของรัฐบาลย่อมได้รับผลกระทบกันไปเต็ม ๆ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ติดบ่วงจากที่เข้าไปมีส่วนร่วมเรื่องนี้แบบเต็ม ๆ จากคำสั่งคสช.ที่ 3/2562 แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยสุชัชวีร์เป็นหนึ่งในคณะกรรมการคณะนี้

ที่สำคัญคือเจ้าตัวได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการเจรจาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และเห็นชอบให้ต่อสัมปทานตามที่ปรากฏเป็นข่าว เรียกว่ามีชนักปักหลังโดยที่ทางพรรคเก่าแก่ย่อมมีการวางแผนที่จะแก้เกมในกรณีนี้ แต่ในจังหวะที่ความนิยมตกต่ำคนที่พร้อมจะรับฟังย่อมมีน้อยตามไปด้วย ส่วนสองผู้สมัครสายกปปส.ทั้ง สกลธี ภัททิยกุล และพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง แม้จะได้เปรียบจากการตุนผลงานที่ได้เป็นรองผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯ กทม.ลากตั้งจนวินาทีสุดท้าย ก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อะไรได้

การเมืองสนามกทม.ก็รู้กันอยู่แล้ว คนกรุงเทพฯ จะรอจนวินาทีสุดท้าย สแกนสถานการณ์ว่าผู้สมัครแต่ละคนจะมีบาดแผลอะไรกันหรือไม่ ดังนั้นเพื่อที่จะไม่ให้ตัวแทนที่แต่ละคนในฝ่ายกุมอำนาจถือหางแปดเปื้อนจึงต้องเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ไปจนกว่าการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ ขณะเดียวกันไม่ใช่แค่การยื้อเพื่อรอให้ผ่านการเลือกผู้ว่าฯ กทม.เท่านั้น ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อสอพลอทั้งหลาย รวมไปถึงพรรคสืบทอดอำนาจ ยังถือโอกาสนี้ประเมินท่าทีของพรรคภูมิใจไทยกับการสู้ในสนามเลือกตั้งส.ส.ครั้งหน้าในพื้นที่กทม.ด้วย ถ้าร่วมวงไพบูลย์แบบเต็มตัว ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียวก็จะกลายเป็นเรื่องได้ไม่คุ้มเสียไปเสียฉิบ

Back to top button