อย่ามองข้าม Great Resignation

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า กระแส “ลาออกระลอกใหญ่” จะยังไม่หยุดลงในเร็ว ๆ นี้ และอีกนานกว่าที่มันจะจบ


ตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดในปี 2563 เราได้ยินแต่ข่าวคนตกงาน ไม่มีรายได้แบบไม่ทันตั้งตัว สถานการณ์แย่หนักกว่าตอนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 อีก แต่พอโควิดระบาดระลอกแล้วระลอกเล่าจนปาไปสองปีกว่าแล้ว ในขณะนี้ กลับเกิดกระแส “ลาออกระลอกใหญ่” หรือ Great Resignation ที่ดูย้อนแย้งกันเป็นอันมาก

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า กระแส “ลาออกระลอกใหญ่” จะยังไม่หยุดลงในเร็ว ๆ นี้ และอีกนานกว่าที่มันจะจบ และความจงรักภักดีต่องาน อาจจะกลายเป็น “เรื่องของอดีต” ไปแล้ว

Great Resignation หรือ บางครั้งก็เรียกว่า Great Reshuffle หรือ Big Quit หมายถึง กระแสที่คนงานออกจากงานหรือเปลี่ยนอาชีพในยุคหลังโควิด โดยเป็นแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พนักงานได้ลาออกจากงานโดยสมัครใจตั้งแต่ต้นปี 2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ

แอนโทนี คลอตซ์ ศาสตราจารย์ด้านการบริหาร ของ Mas Business School มหาวิทยาลัย Texas A&M ได้ทำนายถึงการลาออกของแรงงานครั้งใหญ่เมื่อเดือน พฤษภาคม 2564 โดยสาเหตุมาจาก ค่าจ้างที่ชะงักงันท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงขึ้น เสรีภาพทางเศรษฐกิจจากเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากโควิด-19 ความไม่พอใจต่อการทำงานที่ยาวนาน และความกังวลต่อความปลอดภัยจากการระบาดของโควิด

ผลสำรวจเมื่อเร็ว ๆ นี้ของไมโครซอฟต์ที่ได้สำรวจทั่วโลกต่อลูกจ้างที่ทำงานประจำหรือคนที่ทำงานส่วนตัวหรืองานอิสระ จำนวน 31,102 คน  พบว่า คนหนุ่มสาวที่เป็นคน เจน Z (อายุระหว่าง 18-26 ปี) และ มิลเลนเนียลส์ (อายุระหว่าง 27-41 ปี) 52% กล่าวว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะพิจารณาเปลี่ยนนายจ้างในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3% ในทางกลับ มีคนเจน X (อายุ 42-55 ปี) และ เบบี้ บูมเมอร์ (อายุ 56-75 ปี) เพียง 35% ที่กล่าวว่าคิดจะเปลี่ยนงาน

ไม่ได้มีแต่ผลสำรวจของไมโครซอฟต์เท่านั้นที่บ่งชี้ถึงกระแสลาออกระลอกใหญ่ ผลสำรวจของบริษัท แรนด์สแตด ยูเค ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานในอังกฤษ ก็ชี้ว่า ลูกจ้างชาวอังกฤษ เกือบ 7 ในทุก 10 คน กล่าวว่า รู้สึกมั่นใจที่จะย้ายไปทำงานใหม่ในช่วงสองเดือนข้างหน้า และมีเพียง 16% เท่านั้นที่มีความกังวลเกี่ยวกับการพยายามให้ได้งานใหม่

วิคตอเรีย ชอร์ต ซีอีโอของ แรนด์แสตด ยูเค กล่าวว่าการระบาดของโควิดได้ทำให้คนจำนวนหนึ่งเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับชีวิต การทำงาน และสิ่งที่พวกเขาต้องการจากทั้งสองอย่าง ดังนั้นกระแสลาออกระลอกใหญ่จะยังคงอยู่และความภักดีต่องานเป็นเรื่องในอดีตไปแล้ว

แม้ว่าการระบาดของโควิดเป็นแรงผลักดันให้เกิดการลาออกครั้งใหญ่ แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปโดยมี “รูปทรงและรูปแบบที่แตกต่างกัน” ในอนาคต

รายงานที่ใช้ชื่อว่า “2022 Global Talent Trends” ของ LinkedIn ซึ่งเป็นเว็บไซต์เครือข่ายอาชีพบนอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ระบุว่า นี่คือช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนสำหรับวัฒนธรรมองค์กร พนักงานพร้อมที่จะเดินออกจากงานที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของพวกเขา

ผลสำรวจของไมโครซอฟต์ชี้ว่า คุณสมบัติห้าอันดับแรกของงานที่พนักงานมองว่า “สำคัญมาก” ได้แก่ วัฒนธรรมเชิงบวก สุขภาพจิต หรือสวัสดิการความเป็นอยู่ที่ดี ความรู้สึกเกี่ยวกับวัตถุประสงค์หรือความหมาย ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น และวันหยุดพักร้อนที่ยังคงได้รับค่าจ้างมากกว่าสองสัปดาห์ต่อปี

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้จะยังคงอยู่ไปอีกระยะหนึ่งเพราะลูกจ้างยังต้องการได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม ต้องการบรรยากาศในการทำงานที่เหมาะสม และได้รับโอกาสที่จะได้ตำแหน่งงานที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี นายจ้างก็ยังไม่ได้เตรียมการให้การทำงานมีความยืดหยุ่นและยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับความต้องการของพนักงานแต่ละคน

ผลการสำรวจของไมโครซอฟต์ยังได้ชี้ถึงเหตุผลที่พนักงานลาออกในปี 2564 ด้วยว่า เป็นเพราะไม่มีการเลื่อนตำแหน่ง หรือขึ้นเงินเดือน ความยืดหยุ่น งานที่สามารถทำได้หลังหรือก่อนเวลาทำงาน และความหลากหลายของคนในองค์กร เป็นต้น

รายงานล่าสุดจากกระทรวงแรงานสหรัฐฯ ชี้ว่า ในขณะที่มีคนเกือบ 4.3 ล้านคนในสหรัฐฯ ลาออกจากงานในเดือน มกราคม ยังคงมีตำแหน่งงานเปิดรับอยู่ 11.3 ล้านคน

นั่นน่าจะหมายถึงช่วงเวลาที่เป็นโอกาสสำหรับคนงานที่จะต่อรองค่าแรงที่สูงขึ้น หรือได้เป็นฝ่ายเลือกมากกว่านายจ้าง ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ จะเกิดขึ้นนานทีปีหน

ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า สิ่งที่นายจ้างสามารถทำได้ในช่วงนี้คือ ต้องเริ่มหันมาพิจารณาระดับค่าตอบแทนอีกครั้ง การแก้ไขเร่งด่วนด้วยการจ่ายค่าจ้างมากขึ้น อาจไม่ได้ผลเท่าที่บริษัทต้องการ เนื่องจากตลาดแรงงานกำลังร้อนแรงและการลาออกระลอกใหญ่ยังคงมาแรง บริษัทต้องทำความเข้าใจว่า อะไรที่ทำให้พนักงานอยู่มาจนถึงทุกวันนี้? และบริษัทอื่นเสนออะไรให้ พนักงานจึงคิดที่จะทิ้งบริษัทไป?

ตลาดงานบ้านเราอาจจะไม่ร้อนแรงเท่าตลาดสหรัฐฯ ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ว่า การว่างงานในไตรมาส 4 ปี 2564  แม้ว่าจะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ก็ยังเป็นอัตราที่สูงกว่าในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 อยู่ และการว่างงานระยะยาว หรือการว่างงานนานกว่า 1 ปีขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โครงสร้างตลาดแรงงานไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก ผู้ประกอบการลดการจ้างแรงงาน และเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แรงงานถูกเลิกจ้างหรือถูกพักงานโดยไม่มีรายได้หรือรายได้ลดเพราะลดจำนวนชั่วโมงทำงาน อีกทั้งแรงงานที่จบการศึกษาใหม่ ๆ มีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น

นายจ้างไทยอาจจะยังเป็นต่อลูกจ้างอยู่ แต่แนวโน้ม “การลาออกระลอกใหญ่” ก็เป็นปรากฏการณ์โลกที่บริษัทไม่ควรมองข้ามเช่นกัน  เพราะโลกยุคนี้เป็นโลกที่เชื่อมต่อถึงกันได้อย่างรวดเร็วชนิดที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ

Back to top button