พาราสาวะถีอรชุน
๑๑ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่คนอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะหลับหูหลับตายกมือสนับสนุนสูตรเลือกตั้งแบบแบ่งสันปันส่วนผสมของ กรธ.ที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ชงมาเน้นๆเต็มๆให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย โดยอ้างว่าเพราะเสียงของประชาชนเป็น “เสียงสวรรค์” สูตรหล่นเข้าเต็มตีนพรรคใหญ่ที่มีคะแนนมาเป็นอันดับสอง จึงเกิดความฝันสีทองผ่องอำไพ แม้ไม่ชนะเลือกตั้งแบบปกติก็ใช้เสียงของคนแพ้มาช่วยทำให้ที่นั่งในสภาคู่คี่สูสีได้
๑๑ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่คนอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะหลับหูหลับตายกมือสนับสนุนสูตรเลือกตั้งแบบแบ่งสันปันส่วนผสมของ กรธ.ที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ชงมาเน้นๆเต็มๆให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย โดยอ้างว่าเพราะเสียงของประชาชนเป็น “เสียงสวรรค์” สูตรหล่นเข้าเต็มตีนพรรคใหญ่ที่มีคะแนนมาเป็นอันดับสอง จึงเกิดความฝันสีทองผ่องอำไพ แม้ไม่ชนะเลือกตั้งแบบปกติก็ใช้เสียงของคนแพ้มาช่วยทำให้ที่นั่งในสภาคู่คี่สูสีได้
๑๑เป็นการทำทุกทางเอาทุกอย่างเหมือนอย่างที่บอกไว้เมื่อร่างชุดของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ตีไพ่โง่เพราะแข็งทื่อเกินไป จึงต้องใช้สูตรของซือแป๋ที่พยายามทำให้เนียนบวกกับอาศัยความใจกล้า หน้าด้าน ดันๆกันไปทุกอย่างก็ไร้ปัญหา แค่พรรคเก่าแก่ขานรับพรรคเดียวก็ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเวลาทำประชามติเมื่อบวกเข้ากับเสียงของมวลมหาประชาชนทุกอย่างคงผ่านฉลุย
๑๑แต่เมื่อพูดถึงเสียงสวรรค์อันเป็นการเลือกของประชาชน คนจึงอยากเรียกร้องต่อไปยังมีชัยและชาวคณะว่า ควรจะให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดด้วย ไม่ใช่ลากตั้งครึ่งเลือกตั้งครึ่งหรือจะพยายามจะให้มีลากตั้งมากกว่าเลือกตั้ง เช่นเดียวกันกับสรรหากรรมการองค์กรอิสระก็ควรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้เลือกด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ให้แค่คนไม่กี่คนเลือกจิ้มโดยใช้ญาณทิพย์พินิจเอาว่าคนเหล่านั้นคือคนดี
๑๑อย่างไรก็ตาม พูดถึงการอธิบายความสูตรแบบแบ่งสันปันส่วนผสม วันก่อน สิริพรรณ นกสวน อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านบทความที่ชื่อว่าระบบเลือกตั้งนวัตกรรมใหม่ ตอบโจทย์อะไรให้สังคม โดยแยกแยะเป้าหมายของระบบเลือกตั้งใหม่ตามที่ กรธ.พยายามอธิบายไว้อย่างละเอียดยิบและน่าจะตรงจุดที่สุด
๑๑ระบบดังกล่าวเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนจริง เพราะประชาชนกาบัตรเลือกตั้งใบเดียวให้ ส.ส. เขต แต่การเลือกตั้งในระบบคู่ขนานระหว่าง ส.ส.เขตกับ ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ไทยใช้มาตั้งแต่ปี 2544 ประชาชนคุ้นเคยเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำให้ระบบมันง่ายเกินไป จนไม่ตอบโจทย์สำคัญและจำเป็นยิ่งคือ การสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนให้มากที่สุด
๑๑ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย คะแนนของผู้แพ้ไม่ตกน้ำ นับว่าเป็นจุดแข็งที่สุดของระบบเลือกตั้งนี้ แต่หลักการทุกเสียงมีความหมาย มิใช่หลักการพื้นฐานที่สากลให้ความสำคัญที่สุด ย้ำว่าหลักการที่สำคัญที่สุดของระบบเลือกตั้งคือ สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนให้มากที่สุด จึงไม่ควรเอาประเด็นที่มีความสำคัญอันดับรองมาบดบังหลักการที่ใหญ่กว่า
๑๑ส่วนเหตุผลที่ว่ากระบวนการดังกล่าวสอดคล้องกับสังคมไทย ไม่ขัดกับหลักสากล คำถามก็คือระบบเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับสังคมไทยแต่ประการใด ขณะที่ระบบเลือกตั้งใหม่นี้ ไม่ได้ใช้กันเป็นสากล เหมือนอย่างที่ กรธ.บางคนยอมรับว่าคิดค้นสูตรนี้ขึ้นมาเอง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าไม่มีประเทศใดในโลกเขาใช้กัน
๑๑เหตุผลหลักที่ประเทศอื่นไม่ใช้ เพราะเป็นระบบเลือกตั้งที่ “ลงโทษพรรคที่ชนะเลือกตั้ง เพราะหากคนชนะ พรรคจะไม่ได้คะแนน หากจะให้พรรคได้คะแนน ผู้สมัครของพรรคจะต้องไม่ได้อันดับ 1 ฉะนั้น เจตนารมณ์ของประชาชนที่จะเลือกพรรคและตัวบุคคลจึงถูกบิดเบือนให้สวนทางกันเอง
๑๑นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความทับซ้อนย้อนแย้งระหว่าง ส.ส.เขตกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจาก ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นตัวแทนของประชาชนในรูปแบบและความสัมพันธ์ต่างกัน 14 ปีที่ผ่านมาประชาชนไทยได้พัฒนายุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของตัวเอง อำนาจต่อรองที่ประชาชนใช้กับ ส.ส.เขตและกับพรรคการเมืองนั้นต่างกัน ดังนั้น การเลือกบุคคลกับเลือกพรรค จึงไม่ควรเอามาปนกัน
๑๑ทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะเน้นตัวบุคคลมากกว่าพรรค แรงจูงใจที่พรรคจะนำเสนอนโยบายจะลดลง หันไปเน้นตัวบุคคลมากกว่า แนวโน้มที่จะซื้อเสียงมีมากขึ้น เพราะแข่งขันที่ตัวบุคคล เมื่อเปรียบเทียบกับระบบบัญชีรายชื่อที่การซื้อเสียงโดยตรงทำได้ยาก เพราะเขตเลือกตั้งมีขนาดใหญ่ พรรคจึงต้องให้ความสำคัญกับนโยบาย
๑๑ไม่ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างพรรคการเมือง กล่าวคือ พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ไม่สามารถหาผู้สมัครในระบบเขตได้ จะไม่สามารถแข่งขันกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เลย เพื่อแก้ปัญหานี้ สากลประเทศจึงใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่ไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำเป็นวิธีแก้ปัญหา สุดท้ายมีแนวโน้มเกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นที่มาของนายกรัฐมนตรีคนนอก เพราะประการหลังขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ
๑๑ด้วยเหตุผลที่ว่ามาทั้งหมด จึงนับว่าระบบเลือกตั้งแบบแบ่งสันปันส่วนผสมของ กรธ.นั้นเป็นระบบเลือกตั้งที่ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนและไม่เอื้อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน จริงๆ แล้วการเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง อาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา การยอมรับผลเลือกตั้งและหาวิธีแก้ไขข้อบกพร่องในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด
๑๑เห็นการออกมาแถลงข่าวอย่างขึงขังของมีชัยวันก่อนแล้ว เชื่อได้เลยว่าเสียงท้วงติงต่างๆคงไร้ความหมายและน่าจะใช้สูตรดังว่านี้อย่างแน่นอน ส่วนพรรคการเมืองคงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากก้มหน้าเข้าสู่สนามเลือกตั้ง เพราะยังไม่รู้อีกเหมือนกันว่า ในการร่างกฎหมายประกอบที่ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น จะกำหนดข้อห้ามพิสดารอะไรไว้อีกหรือไม่
๑๑ที่เห็นด้วยกับกระบวนการพิจารณาของ กรธ.คงเป็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กกต.ที่ให้เพิ่มคุณสมบัติความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ของคนที่ได้ชื่อว่ามีอำนาจสูงสุดในการจัดการเลือกตั้งของประเทศ เพราะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เป็นบทพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนถึงพฤติกรรมความเป็นคณะกรรมการไม่อยากจัดการเลือกตั้ง ทางที่ดีน่าจะมีบทลงโทษต่อการละเว้นในลักษณะดังกล่าวด้วย
๑๑แต่ก็อีกนั่นแหละต่อให้มีกฎกติกาอย่างไร ถ้าคนตีความไม่เป็นธรรมเสียแล้วมันก็คงไร้ประโยชน์ เหมือนอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่รัฐบาลหนึ่งสามารถแก้ไขระบบเลือกตั้งเพื่อให้พรรคของตัวเองได้ประโยชน์โดยไม่มีความผิด แต่พอเปลี่ยนรัฐบาล ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อกันขอแก้ไขเพื่อให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด กลับเข้าข่ายล้มล้างระบอบการปกครองไปเสียฉิบ องค์กรเฮงซวยเช่นนี้จะปฏิรูปกันอย่างไร