ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง. คงดอกเบี้ยในการประชุม 4 พ.ย.นี้

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง. คงดอกเบี้ยที่ระดับ 1.50% ในการประชุมวันที่ 4 พ.ย.นี้ หลังมองว่าปัจจุบันสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยยังคงอยู่ในที่ระดับสูง น่าจะสามารถรองรับสถานการณ์การไหลออกของเงินทุนได้ในระดับหนึ่ง


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมวันที่ 4 พ.ย.นี้ ท่ามกลางความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมกลางเดือน ธ.ค.นี้

โดยการส่งสัญญาณของเฟดถึงความเป็นไปได้ที่จะเริ่มกระบวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธ.ค. คงจะส่งผลให้ กนง. ตัดสินใจรอประเมินผลของกระทบของการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตลาดเงินตลาดทุนของไทยในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้เฟดได้ตอกย้ำถึงความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ดังที่ได้ระบุในบันทึกหลังการประชุมเฟดวันที่ 27-28 ต.ค.58 ว่าจะมีการถกเถียงเกี่ยวกับความเหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนธ.ค.ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายของปีนี้ อันส่งผลให้ตลาดการเงินปรับการคาดการณ์ถึงโอกาสที่สูงขึ้นที่เฟดอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบดังกล่าว  ซึ่งอาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากภูมิภาคตลาดเกิดใหม่ได้อีกครั้ง

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเองและตลาดหุ้นในภูมิภาคก็ได้ปรับตัวลดลงหลังการประชุมเฟดจากการลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้นจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติเช่นกัน ทั้งนี้ กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนในภูมิภาคอาจจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นได้อีกในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เข้าใกล้การประชุมเฟดรอบต่อไป

ขณะเดียวกันความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มบรรเทาลงบางส่วน คงจะทำให้กนง.มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับปัจจุบัน ก่อนการรายงานจีดีพีไตรมาส 3/58 ของสศช.ในวันที่ 16 พ.ย. ทั้งนี้ พัฒนาการของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/58 หลายตัวเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นขึ้น อาทิเช่น การบริโภคสินค้าไม่คงทนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนก็มีการติดลบที่น้อยลง ตลอดจน การเบิกจ่ายภาครัฐที่สามารถขยายตัวได้ในอัตราที่ค่อนข้างสูง

นอกจากนั้น การออกมาตรการต่างๆของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาซึ่งช่วยหนุนนำกำลังซื้อของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเงินกู้ยืมให้กับกองทุนหมู่บ้าน รวมทั้ง มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็น่าจะช่วยรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้จนถึงช่วงต้นปีหน้าได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยน่าจะทยอยปรับดีขึ้นในช่วงที่เหลือในปีนี้ โดยจีดีพีในไตรมาส 3 และ 4 น่าจะขยายตัวที่ 0.5 % จากไตรมาสก่อน และ 1.0 %จากไตรมาสก่อน ตามลำดับ

ขณะที่มุมมองเศรษฐกิจภายนอกประเทศก็เริ่มมีพัฒนาการเชิงบวกมากขึ้น หลังจากที่ทางการจีนได้มีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงแรง และสร้างอานิสงค์ให้กับการส่งออกในประเทศคู่ค้าของจีนรวมถึงไทยในระยะข้างหน้า

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามเพิ่มเติมในระยะสั้น คงจะได้แก่ ความเสี่ยงด้านเงินทุนไหลออกจากภูมิภาคที่อาจจะกลับมาอีกครั้ง โดยมีประเด็นจับตาที่สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์การเมืองของมาเลเซีย ในขณะที่เหตุการณ์ทุจริตที่เกิดขึ้นในกองทุน วันมาเลเซีย ดีเวลล้อปเมนต์ เบอร์ฮัด (1MDB) ยังอยู่ระหว่างการสืบสวน ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจจะวกกลับมากระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการไหลออกของกระแสเงินทุนอีกครั้ง จนกระทบต่อประเด็นด้านเสถียรภาพของประเทศในท้ายที่สุด เนื่องจากระดับเงินทุนสำรองของมาเลเซียเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้นปรับตัวลดลงค่อนข้างมากนับจากต้นปี โดยอยู่ที่ประมาณ 1 เท่าในปัจจุบัน ดังนั้น หากมาเลเซียเผชิญกับภาวะการไหลออกของเงินทุนขนาดใหญ่ ก็อาจจะก่อให้เกิดประเด็นความเสี่ยงด้านเสถียรภาพภายนอกตามมา และส่งผ่านผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาค รวมทั้งไทยด้วย

ทั้งนี้เมื่อมองต่อไปถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินไทยในระยะถัดไปแล้วนั้น คาดว่า กนง. อาจจะยังสามารถที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำได้อีกระยะหนึ่ง แม้ว่าเฟดจะเริ่มกระบวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปก่อนแล้วก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยยังคงอยู่ในที่ระดับสูง ซึ่งน่าจะสามารถรองรับสถานการณ์การไหลออกของเงินทุนได้ในระดับหนึ่ง ภายใต้สมมุติฐานที่เฟดทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปและทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีความชัดเจนมากขึ้น

โดยจากการพิจารณามูลค่าคงค้างของธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคีของ ธปท. อันเป็นเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่องนั้นมีมูลค่าคงค้างสูงกว่า 1.3 ล้านล้านบาท (ณ 29 ต.ค.58) ขณะที่ระดับเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝาก (L/D + B/E Ratio) ของธนาคารพาณิชย์ไทยก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1 เท่า โดยอยู่ที่ 0.97 (ณ สิ้นเดือน ส.ค.58)

นอกจากนี้ ระดับการพึ่งพาเงินทุนจากแหล่งเงินทุนภายนอกประเทศของไทยมีไม่มาก โดยหนี้สินต่างประเทศของไทยเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 2.9 เท่า (หนี้สินต่างประเทศของสถาบันการเงินไทยก็อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำกว่า 10%ของสินทรัพย์รวม) ขณะที่สัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนเพียง 6.0% ของมูลค่าคงค้าง ซึ่งเมื่อประกอบภาพเหล่านี้เข้าด้วยกันแล้ว คาดว่า กนง.จะยังคงมีพื้นที่ในการรักษาดำเนินนโยบายการเงินในระดับปัจจุบันได้อีกระยะหนึ่ง เพื่อที่จะได้มีเวลาประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจในมิติต่างๆให้รัดกุมมากขึ้น หลังจากที่เฟดเริ่มกระบวนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว

Back to top button