SET เปิดเช้ารูด 14 จุด รับแรงขาย “กลุ่มพลังงาน” หลังราคาน้ำมันร่วง 5.6%
SET เปิดเช้าร่วง 14 จุด รับแรงขาย “กลุ่มพลังงาน” หลังราคาน้ำมันปรับลง 5.6% ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.65 หลังประเทศสมาชิกสำนักงานพลังงานสากลเตรียมระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ 120 ล้านบาร์เรล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย ณ เวลา 10:02 น. อยู่ที่ 1,687.27 จุด ลดลง 13.91 จุด หรือ 0.82% สูงสุดที่ 1,694.23 จุด ต่ำสุดที่ 1,686.21 จุด มูลค่าการซื้อขาย 9.67 พันล้านบาท
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้น่าจะปรับตัวลงเป็นไปตามตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียและตลาดหุ้นทั่วโลก หลังนักลงทุนกังวลธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน พ.ค.นี้ เนื่องจากรายงานการประชุมประจำวันที่ 15-16 มี.ค.ที่ผ่านมาระบุว่ากรรมการเฟดเห็นพ้องปรับลดขนาดงบดุลลงเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์อย่างเร็วที่สุดในเดือนพ.ค.นี้ และกรรมการเฟดหลายคนยังสนับสนุนให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง โดยเฉพาะ Nasdaq ร่วงไปกว่า 2%
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวลง 5.6% โดยหลุดระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลงมาที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2565 หลังประเทศสมาชิกสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เตรียมระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ 120 ล้านบาร์เรลรับมือภาวะอุปทานตึงตัวและสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน โดยจะรวมถึงน้ำมันจากคลังของสหรัฐ 60 ล้านบาร์เรลด้วย และยังได้รับแรงกดดันจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานว่าสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.85 ล้านบาร์เรล จากปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะกดดันต่อหุ้นกลุ่มพลังงานบ้านเราให้ปรับตัวลง
รวมถึงหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี คาดว่าจะร่วงลงตามดัชนี Nasdaq ด้วย ขณะที่บ้านเราก็ยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน และเริ่มเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าปริมาณการซื้อขายน่าจะเริ่มเบาบางลง จากนักลงทุนชะลอการลงทุน
ให้แนวรับไว้ที่ 1,690-1,695 จุด และแนวต้าน 1,706-1,7010 จุด
ขณะเดียวกันบล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ วันนี้ (7 เม.ย.2565) โดยประเมินว่า SET ปรับตัวลงแนวรับ 1,685 / 1,690 จุด ตามปัจจัยลบเฟดเตรียมปรับลดขนาดงบดุลจากระดับสูงเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยลดขนาดงบดุลลงเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% 1-2 ครั้งเพื่อสกัดเงินเฟ้อ นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบที่ทรุดตัวลงแรงหลังสมาชิก IEA จะระบายน้ำมันคลังสำรอง 120 ล้านบาร์เรล รวมถึงความไม่แน่นของสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียเป็นแรงกดดันต่อภาวะตลาด