สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 เม.ย. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 เม.ย. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (8 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคารซึ่งร่วงลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ดัชนี S&P500 ปิดลดลงหลังการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน ขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,721.12 จุด เพิ่มขึ้น 137.55 จุด หรือ +0.40%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,488.28 จุด ลดลง 11.93 จุด หรือ -0.27% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,711.00 จุด ลดลง 186.30 จุด หรือ -1.34%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกในวันศุกร์ (8 เม.ย.) ขณะที่นักลงทุนมุ่งความสนใจไปที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรกในวันอาทิตย์นี้ (10 เม.ย.) นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และสถานการณ์เกี่ยวกับยูเครน

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 460.97 จุด เพิ่มขึ้น 5.95 จุด หรือ +1.31%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,548.22 จุด เพิ่มขึ้น 86.54 จุด หรือ +1.34%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 14,283.67 จุด เพิ่มขึ้น 205.52 จุด หรือ +1.46% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,669.56 จุด เพิ่มขึ้น 117.75 จุด หรือ +1.56%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นในวันศุกร์ (8 เม.ย.) ที่ระดับสูงสุดในรอบ 8 สัปดาห์ โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์และกลุ่มธนาคารที่ปรับตัวขึ้น หลังจากตลาดปรับตัวผันผวนตลอดทั้งสัปดาห์ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในสหรัฐ และสถานการณ์สงครามในยูเครน

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,669.56 จุด เพิ่มขึ้น 117.75 จุด หรือ +1.56%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (8 เม.ย.) แต่ก็ยังคงลดลงเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน โดยถูกกดดัน หลังจากประเทศต่าง ๆ ประกาศแผนการที่จะระบายน้ำมันดิบจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. พุ่งขึ้น 2.23 ดอลลาร์ หรือ 2.3% ปิดที่ 98.26 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ยังคงลดลง 1% ในรอบสัปดาห์นี้

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 2.2 ดอลลาร์ หรือ 2.2% ปิดที่ 102.78 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ยังคงลดลง 1.5% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (8 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 7.8 ดอลลาร์ หรือ 0.4% ปิดที่ 1,945.6 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวขึ้น 1.1% ในรอบสัปดาห์นี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 8.8 เซนต์ หรือ 0.36% ปิดที่ 24.823 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 17.6 ดอลลาร์ หรือ 1.84% ปิดที่ 975.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 197.00 ดอลลาร์ หรือ 8.9% ปิดที่ 2,420.10 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันศุกร์ (8 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.05% แตะที่ 99.7960

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 124.36 เยน จากระดับ 123.96 เยน แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9335 ฟรังก์ จากระดับ 0.9338 ฟรังก์ และดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2567 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2580 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0886 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0881 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าแตะที่ระดับ 1.3038  ดอลลาร์ จากระดับ 1.3073 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7462 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7485 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button