AMARIN หุ้นสื่อเก่งบวกเฮง
วันนี้ หลังจาก 6 ปีผ่านไป AMARIN กำลังมีผลประกอบการที่สวยงามอีกครั้ง โดยมีบุ๊กแวลูที่สูงกว่าราคาต้นทุนที่กลุ่มสิริวัฒนภักดีจ่ายไป
บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN ประกาศจ่ายปันผลเป็นเงินสดวันที่ 11 พ.ค. 2565 ที่ 0.19 บาท ซึ่งถือว่าสูงเกินคาดอีกครั้งเพราะแต่เดิมนักวิเคราะห์บางสำนักเคยประกาศ “ฟันธง” ว่าคาดจะจ่ายปันผลเป็นเงินสดที่เคยจ่ายปันผลมากกว่าปี 2563 ที่จ่ายไปหุ้นละ 0.12 บาทต่อหุ้น
เหตุผลที่จ่ายปันผลสวยงามจากธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์เพราะบริษัทนี้ มีกำไรสุทธิสูงขึ้นที่ระดับทำนิวไฮที่ระดับ 313 ล้านบาท หรือกำไรต่อหุ้นที่ 0.31 บาท และยังเป็นกำไรสุทธิต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ติดกัน ไม่มีตัวเลขขาดทุนเลยส่งผลให้สามารถจ่ายปันผลได้ดีขึ้น
กำไรจากธุรกิจที่สวนทางกันกับคู่แข่งในธุรกิจเดียวกันที่มีตัวเลขกำไรหดหายหรือขาดทุนต่อเนื่องจนเข้าข่ายต้องเพิ่มทุนและปรับแผนธุรกิจอย่างขนานใหญ่เพื่อให้อยู่รอดหรือหนีตายกันจ้าละหวั่น เป็นกรณีน่าศึกษาอย่างมาก
คำอธิบายของผู้บริหารตระกูลอุทกะพันธุ์ที่ว่า ปีที่ผ่านมาแม้จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี ที่มีการประกาศมาตรการควบคุมและงดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่มีการระบาด รุนแรงตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ของปีร้านนายอินทร์และร้านค้าพันธมิตรหลายแห่งที่อยู่ในพื้นที่ที่ควบคุมต้องปิดดำเนินการชั่วคราว
รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายไม่สามารถดำเนินการจัดงานแสดงได้ ส่งผลให้รายได้หดตัวลงไปร้อยละ 53.4 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 แต่บริษัทกลับสามารถแก้สถานการณ์ไปเน้นการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และสร้างรายได้จากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัล ทำให้รายได้รวมขยายตัวโดยบริษัทมีรายได้รวม 2,960.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 23.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 โดยมีรายได้จากการจำหน่ายสิ่งพิมพ์ผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตสูงถึงร้อยละ 133.0 และรายได้จากธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัลมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.90
รายได้จากแหล่งใหม่นี้กลับมีจุดแข็งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายและการขายลดลงชัดเจน ส่งผลทำให้กำไรเพิ่มบริษัทผลิตสื่ออย่าง AMARIN หรือบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย สวนทางกับบริษัทสื่ออื่น ๆ ที่ต้องกระเสือกกระสนเอาตัวให้อยู่รอดท่ามกลางขาลงของธุรกิจสื่อเดิม ๆ ที่ไม่รู้สิ้นสุดเมื่อใด
รายได้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี ช่วยต่อยอดจากรายได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 รวม 1,392.28ล้านบาท เพิ่มจากงวดเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 17.36 จากการเติบโตของรายได้จากการผลิตสื่อทีวีดิจิทัล และการเพิ่มขึ้น ของรายได้จากธุรกิจ การจัดจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์ของร้านนายอินทร์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยรายได้จากสื่อทีวีดิจิทัลมีอัตราการเพิ่มก้าวกระโดดถึงร้อยละ 74.72 ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ส่งผลให้มีการเติบโตในอัตราร้อยละ 42.24 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564
ผลพวงของกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นนี้ คนที่รับไปเต็ม ๆ คือ กลุ่มสิริวัฒนภักดี ในนามบริษัท สิริวัฒนภักดี จำกัด ที่มีรายชื่อถือครองหุ้นอยู่ล่าสุดมากถึง กว่า ร้อยละ 60 ในขณะที่ผู้บริหารและกรรมการรุ่นก่อตั้งและทายาทตระกูลอุทกะพันธุ์ถือครองหุ้นเป็นทางการแค่ต่ำกว่า ร้อยละ 15
ข้อเท็จจริงที่ผู้ก่อตั้งและมีอำนาจเต็มในการบริหารงาน ต้องกลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย เช่นนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ฐานะการเงินเมื่อปี 2559 ของ AMARIN ทรุดโทรมลงเนื่องจากขาดทุนต่อเนื่องจากทำธุรกิจทีวีที่มีต้นทุนอนุญาตสูงเกินไป
AMARIN ขาดทุนในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านั้นต่อเนื่อง และช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 ขาดทุนถึง 468.93 ล้านบาท จึงส่งผลต่อสภาพคล่องและกระแสเงินสด เพื่อใช้จ่ายค่าใบอนุญาตดิจิทัลทีวี ค่าเช่าโครงข่ายทีวี และชำระเงินกู้คืนไปยังสถาบันการเงิน บริษัทจึงต้องหาเงินทุนเพิ่ม ด้วยการขอมติผู้ถือหุ้นเดิม เพิ่มทุนและขายหุ้นส่วนนี้ให้กับตระกูลสิริวัฒนภักดี ในราคา 850 ล้านบาท
ผลพวงการเพิ่มทุนครั้งนั้น โดยการเพิ่มทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มจำนวนหุ้น 200 ล้านหุ้น มูลค่าราคาหุ้นละ 1 บาท แล้วขายให้กับ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท (รวมมูลค่า 850 ล้านบาท) โดยบริษัท ส่งนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี ร่วมเป็นกรรมการ
หลังการเข้าซื้อหุ้นครั้งนั้นในราคาแพงเกินจริง (แม้ว่าราคาที่ซื้อต่ำกว่าราคาบนกระดานเกือบ 43%) บริษัท วัฒนภักดี จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของอมรินทร์ ด้วยสัดส่วนหุ้น 47.62% ส่วนครอบครัวอุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอมรินทร์ จะมีสัดส่วนหุ้นลดลงเหลือ 30.83% ต่อมากลุ่มเสี่ยเจริญได้ทยอยเงียบ ๆ เข้าถือหุ้นเป็นกว่า 60% โดยซื้อจากกลุ่มอุทกะพันธุ์
วันนี้ หลังจาก 6 ปีผ่านไป AMARIN กำลังมีผลประกอบการที่สวยงามอีกครั้ง โดยมีบุ๊กแวลูที่สูงกว่าราคาต้นทุนที่กลุ่มสิริวัฒนภักดีจ่ายไป และราคาหุ้นซื้อขายบนกระดานอยู่แถว 6.00 บาท ซึ่งเป็นราคาที่มีการฟื้นตัวจากระดับที่ลงลึกไปแถว ๆ 4.00 บาทนานเกือบ 4 ปี
ถือว่านี้คือการกลับมาอันสวยงามด้วยด้วยฝีมือของกลุ่มอุทกะพันธุ์ และทำให้กลุ่มเสี่ยเจริญรับไปเต็มที่ โดยไม่ต้องเอ่ยคำว่าเก่ง บวกเฮง อย่างซ้ำซาก