พาราสาวะถีอรชุน
"ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ให้คนที่ฉลาดกว่ามาแก้ครับ ไม่ใช่ปิดประเทศ" นี่คือคำพูดของ นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ คงไม่ต้องอธิบายว่าหมายถึงใคร แต่ท่วงทำนองของคุณหมอน่าจะไม่ถึงขั้นต้องถูกเรียกไปปรับทัศนคติ เพราะถือเป็นการท้วงติงด้วยความหวังดีและไม่อยากให้ประเทศชาติมีปัญหา
“ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ให้คนที่ฉลาดกว่ามาแก้ครับ ไม่ใช่ปิดประเทศ” นี่คือคำพูดของ นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ คงไม่ต้องอธิบายว่าหมายถึงใคร แต่ท่วงทำนองของคุณหมอน่าจะไม่ถึงขั้นต้องถูกเรียกไปปรับทัศนคติ เพราะถือเป็นการท้วงติงด้วยความหวังดีและไม่อยากให้ประเทศชาติมีปัญหา
เช่นเดียวกันกับอีกหนึ่งความเห็น “สังคมไทยเดินมาไกลเกินกว่าที่จะปิดประตูบ้านตัวเอง ตามความเชื่อของปีกขวาจัด ความลำบากของปัจจุบันก็คือ เราดันอยู่กับอนุรักษนิยมขวาจัดที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวเท่าไหร่ และความไม่รู้เรื่องรู้ราวมันสะท้อนชัดว่า เขาไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก ขณะเดียวกันก็ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง หรือพลวัตที่เกิดขึ้นในบ้านตัวเอง”
อันเป็นเสียงสะท้อนของ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะอดีตหนึ่งในแกนนำนักศึกษา 18 คนที่จับกุมและดำเนินคดีร้ายแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ซึ่งจะว่าไปแล้ว สถานการณ์ภายในประเทศมาจนถึงนาทีนี้ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะร้ายแรงจนถึงขั้นต้องปิดประเทศอย่างไร ยิ่งกรณีนัดใส่เสื้อแดงเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมาที่ไม่เห็นมีอะไรในกอไผ่
นั่นไม่ใช่เพราะฝ่ายความมั่นคงเอาจริงเอาจังเรียกแกนนำคนเสื้อแดงไปปรับทัศนคติ หากแต่ความเป็นจริงก็คือ การนัดหมายดังกล่าวมันเป็นเรื่องที่โผล่ผ่านโลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย จนแกนนำนปช.ที่มี จตุพร พรหมพันธุ์ เป็นหัวเรือใหญ่ต้องออกมาชี้แจงด้วยตัวเองต่อเนื่องหลายวัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ทุกอย่างจึงไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ไม่หวังดี
งานนี้หากไม่มีอคติและมุ่งแต่จะจัดการฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพต่างๆ ที่มีการตั้งกองสงครามไซเบอร์ น่าจะสืบค้นข้อมูลหาข้อเท็จจริงว่า ใครกันที่เป็นผู้ยุยงปลุกปั่น แล้วมีเจตนาอย่างไร เพราะมองไปยังคดีความของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ศาลอนุญาตให้เพิ่มพยาน 43 ปากพร้อมกำหนดวันนัดไต่สวนคดีแล้ว ต้องใช้เวลาอีกนานนับปีกว่าที่จะมีข้อยุติ
จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องไปนัดหมายให้กำลังใจอดีตนายกฯหญิง ขณะเดียวกันหลังจากที่ไม่มีการใส่เสื้อแดงตามนัดหมาย น่าสนใจตรงที่ฝ่ายเสี้ยมอันหมายถึงฝั่งตรงข้ามกลุ่มคนเสื้อแดง มีการไปขยายผลผ่านโซเชียลมีเดียในทำนองว่ามวลชนของฝ่ายหนุนทักษิณ ชินวัตร บ่มิไก๊ไร้พลัง เป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ฝ่ายความมั่นคงจับตาเป็นพิเศษเข้าข่ายการปลุกปั่นทำให้เกิดความขัดแย้งหรือเปล่า
หากยังปล่อยไว้ให้เป็นเช่นนี้ คงจะเป็นบทพิสูจน์ได้ดีว่า ใครและพวกไหนกันแน่ที่ไม่ต้องการให้ความขัดแย้งยุติ ยังคงจุดกระแสแบ่งพวกแยกฝ่ายเหมือนเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมมีคำถามถึงกระบวนการปรองดองของรัฐบาลและคสช.ว่าจะเดินหน้ากันไปได้อย่างไร โดยในประเด็นนี้สุรชาติก็มีการแสดงความเห็นไว้อย่างน่าคิดไม่น้อย
วันนี้ได้ยินคำว่าปรองดอง ปรองดอง จนเป็นคำที่รู้สึกว่าหาสาระไม่ได้ในทางการเมือง นอกจากหาสาระในทางการเมืองไม่ได้ มันไม่มีสัญญาณของการปฏิบัติว่า ตกลงแล้วความปรองดองที่พูดกันในสังคมไทยคืออะไร เราคาดหวังอะไร เราพูดแต่อยากเห็นปรองดอง แต่เราก็ยังมีการไล่ล่ากันไม่จบ แล้วตกลงการปรองดองจะเกิดได้อย่างไร
ถ้าเราอยากเห็นการปรองดองจริงๆ ที่จะทำให้สังคมมันคลายตัว เราไม่เห็นจุดเปลี่ยนของนโยบายที่เป็นจุดเปลี่ยนในการคลายตัว มิหนำซ้ำ ยังน่าเสียดายว่าอดีตผู้นำนักศึกษาที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในฐานที่มั่นในชนบท แล้วได้กลับเข้ามาด้วยกฎหมายนิรโทษกรรม พอได้มานั่งอยู่ในสปช.หลังการรัฐประหารของคสช. พวกเขากลับคิดเรื่องนี้น้อยลง จนทำให้รู้สึกว่าเขาอาจจะจำไม่ได้ว่า วันหนึ่งที่พวกเขาได้กลับบ้านมันเริ่มจากกฎหมายนิรโทษกรรม
นอกจากนั้น ในความเห็นของสุรชาติยังมีประเด็นที่เกี่ยวกับชุดความคิดเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งคงไม่ได้มองต่างไปจากฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยมากนัก นั่นก็คือ ชุดความคิดเรื่องประชาธิปไตยแตกตัวไปในสังคมไทยเยอะมาก ในชนบทกระแสประชาธิปไตยสูง ในเมืองก็สูงเหมือนกัน ขณะที่กระแสอนุรักษนิยมดูเหมือนเข้มแข็ง แต่มันเป็นความเข้มแข็งบนความเปราะบาง
เพราะวันนี้กระแสอนุรักษนิยมในไทย เป็นอะไรที่สังคมโลกไม่ยอมรับ อาจจะบอกว่าเราจะอยู่แบบไทยๆ โลกไม่รับฉันก็จะอยู่ของฉัน เอาเข้าจริงๆ เป็นไปไม่ได้ ถ้าเชื่อว่าสังคมไทยอยู่ได้โดยไม่ต้องอยู่กับกระแสโลก เท่ากับว่าเราหลอกตัวเองบนฐานคิดอนุรักษนิยมแบบเก่า ปุจฉาที่ผู้มีอำนาจตอบไม่ได้และคงเป็นเรื่องที่ทำให้หงุดหงิดหัวใจ
นั่นก็คือ สิ่งที่เรากำลังเผชิญคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่ดีเท่าไหร่ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่แย่อยู่แล้ว สังคมจะเดินเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่ ถ้าสังคมไทยเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจชุดใหญ่ คำถามจะเกิดขึ้นทันทีว่ารัฐบาลทหารมีความสามารถจะแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจได้หรือไม่ ถ้าแก้ได้จริงอย่างที่หวัง ก็อาจจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้คณะรัฐประหารอยู่ต่อได้นาน
แต่ไม่เพียงแค่ปัญหาด้านเศรษฐกิจเท่านั้น สิ่งที่หลายฝ่ายจับตามองกันอยู่คือ แรงกดดันจากต่างประเทศ ถอดรหัสได้อย่างหนึ่งจากคำพูดของ กลิน ทาวเซนต์ เดวี่ส์ ทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยที่เข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยพูดถึงจุดยืนของสหรัฐฯที่มีต่อไทยไม่เปลี่ยนแปลง ตามมาด้วยการเรียกร้องให้เดินตามโรดแมปและเปิดพื้นที่ในการแสดงออกและรับฟังความเห็นต่างให้มากขึ้น
นั่นหมายความว่า บทบาทของต่างประเทศอาจจะไม่รวดเร็วตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง เวลาพูดถึงประเทศไทย ไม่มีใครอยากใช้มาตรการหนักในการกดดัน เพราะกลัวว่า หากใช้แล้วเกิดสถานการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดกับการเมืองไทยจะมีผลกระทบกับภูมิภาคอาเซียนด้วย ฉะนั้น ภาวะที่เกิดขึ้นมันเป็นความกระอักกระอ่วนของรัฐบาลต่างประเทศหลายรัฐบาล ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าสุดท้ายปลายทางเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว ผลลัพธ์มันจะเป็นอย่างไร