พิษโควิดยืดเยื้อทำ ‘หนี้ครัวเรือน’ พุ่ง

ในปัจจุบันฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและประชาชนรายย่อย ยังคงมีความอ่อนไหวต่อสภาวะผันผวนและไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ


เส้นทางนักลงทุน

บรรดาผู้ประกอบการที่รับซื้อหนี้เสีย เช่น บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT, บมจ.ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO ต่างคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะได้เห็นแบงก์ปล่อยหนี้เสียออกมาจำนวนมาก และเฉพาะแค่หนี้ภาคครัวเรือน อาจจะได้เห็นตัวเลขหนี้เสียระดับ 300,000 ล้านบาท โดยมองว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือจะทยอยน้อยลง ซึ่งสอดคล้องกับที่ ธปท.อนุญาตให้แบงก์จับมือเอกชนในการจัดตั้งธุรกิจ AMC เพื่อมารองรับปริมาณหนี้เสียที่เกิดขึ้นด้วย

ต้องยอมรับว่าปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มมากขึ้น เป็นผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิดที่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องสะดุดหยุดลงชั่วคราว ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงักยาวนานเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังประชาชน เนื่องจากในช่วงเวลาที่โควิดระบาดหนัก โดยเฉพาะในปี 2563 และปี 2564 ผู้คนตกงานเพิ่มมากขึ้น คนทำงานรายได้ต่ำลงจากการถูกลดเงินเดือน นำไปสู่ “ปัญหาความสามารถในการชำระหนี้”ลดลงด้วย

ทั้งนี้ข้อมูลลูกหนี้จากฐานข้อมูลเครดิตบูโร ณ สิ้นปี 2564 มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียสะสมทั้งหมด 4.3 ล้านบัญชี ที่เป็นหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน  และหากดูหนี้เสียโดยรวมของ “รายย่อย” พบว่า มียอดหนี้เสียสะสมที่ 9.5 แสนล้านบาท  หรือคิดเป็นหนี้เสีย 7.5% เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปี 2563 ที่มียอดหนี้เสียสะสมเพียง 8.8 แสนล้านบาท ขณะที่การขอเข้าสู่ขบวนการปรับโครงสร้างหนี้ในปัจจุบันสูงถึง 7.8 แสนล้านบาท

สำหรับรายย่อยที่มียอดสินเชื่อสะสม ณ สิ้นปี 2564 ที่ผ่านมา สามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. Gen Z คือ คนที่มีอายุ 8-20 ปี มียอดหนี้สะสม 9.7 หมื่นล้านบาท 2. Gen Y มีอายุ 21-37 ปี มียอดหนี้ 4.5 ล้านล้านบาท 3. Gen X มีอายุ 38-53 ปี มียอดหนี้ 3.8 ล้านล้านบาท 4. Baby Boomer มีอายุ 54-72 ปี มียอดหนี้ 1.1 ล้านล้านบาท และ 5. กลุ่ม Silent มียอดหนี้ 2.6 หมื่นล้านบาท

โดย Gen Z มีอัตราการเป็นหนี้เสียสะสม 5.2 พันล้านบาท, Gen Y 3 แสนล้านบาท, Gen X 2.6 แสนล้านบาท, Baby boomer 7.1 หมื่นล้านบาท และ Silent 1.2 พันล้านบาท

“ธรัฐพร เตชะกิจขจร” ผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM ระบุว่า จากข้อมูลผู้ขอเข้าร่วม “โครงการคลินิกแก้หนี้” ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา พบว่าจำนวนผู้ขอเข้าโครงการจะมีอายุที่ลดลงต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีผู้ที่ขอเข้าร่วมโครงการและได้รับการอนุมัติแล้ว 3,100 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีถึง 58% ขณะที่มียอดผู้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่ออนุมัติอีกจำนวน 6,200 คน ในจำนวนนี้มีคนที่อายุต่ำกว่า 40 ปีถึง 72% จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าคนอายุน้อยมีการก่อหนี้กันมากขึ้น และต้องเข้าสู่ขบวนการแก้ไขหนี้มากขึ้นด้วย

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานออกมาล่าสุด ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 14.58 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 3.9% ใกล้เคียงกับการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ในปี 2563 ที่ 4.0% อย่างไรก็ดี เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังคงเติบโตช้า ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564 ยังคงขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.1% จากระดับ 89.7% ในปี 2563

โดยหนี้ส่วนใหญ่ของครัวเรือน 3 อันดับแรกยังคงเป็น 1. เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วน 34.5% ของหนี้ครัวเรือนรวม 2. เงินกู้เพื่อการประกอบธุรกิจ สัดส่วน 18.1% ของหนี้ครัวเรือนรวม และ 3. เงินกู้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ สัดส่วน 12.4% ของหนี้ครัวเรือนรวม

เป็นที่น่าสังเกตว่า ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนมีการพึ่งพาบริการสินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักประกันในการกู้ยืม เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องและแก้ไขปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เพราะภาพรวมเศรษฐกิจและรายได้ของภาคครัวเรือนในหลาย ๆ ส่วน ยังคงไม่ฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวยืดเยื้อ

ฐานะทางการเงินในระดับครัวเรือนมีสัญญาณอ่อนแอและมีหนี้สูงขึ้นจากผลกระทบของโควิดที่ระบาดยืดเยื้อ แม้ในภาพรวมทั้งประเทศ เงินออมของภาคครัวเรือนซึ่งอยู่ในรูปเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะขยับขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 12.28 ล้านล้านบาทในปี 2563 มาอยู่ที่ประมาณ 12.87 ล้านล้านบาทในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 79.5% เมื่อเทียบกับจีดีพี และ 88.2% เมื่อเทียบกับยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน แต่หากมองภาพในระดับครัวเรือน สถานะทางการเงินและระดับเงินออมของแต่ละครัวเรือนย่อมมีความแตกต่างกัน

ทั้งนี้จากข้อมูลผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ฐานะทางการเงินในระดับครัวเรือนมีสัญญาณอ่อนแอและมีหนี้สูงขึ้นจากผลกระทบของโควิด โดยแม้ครัวเรือนไทยในปี 2564 จะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 27,352 บาทต่อเดือน ขยับขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยที่ 26,018 บาทต่อเดือนในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด แต่ภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนก็ขยับสูงขึ้นตามมาอยู่ที่ 21,616 บาทต่อเดือนด้วยเช่นกัน

ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 79% ต่อรายได้ต่อเดือน ซึ่งสะท้อนว่า หากครัวเรือนมีภาระอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ภาระผ่อนหนี้ ก็จะทำให้มีเงินเหลือสำหรับเก็บสะสมเป็นเงินออม ข้อมูลในฝั่งหนี้สินก็สะท้อนว่า ครัวเรือนไทยมีฐานะทางการเงินที่เปราะบางมากขึ้น โดยในผลสำรวจฯ พบว่า สัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้ขยับขึ้นจาก 45.2% ในปี 2562 มาที่ 51.5% ในปี 2564 โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้นบางส่วนมาจากแหล่งกู้เงินนอกระบบ

เท่ากับว่าในปัจจุบันฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและประชาชนรายย่อย ยังคงมีความอ่อนไหวต่อสภาวะผันผวนและไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยที่อาจเริ่มขยับขึ้นในอนาคตด้วย

Back to top button