CIMBT เทิร์นอะราวด์เต็มตัว

CIMBT ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กและราคาต่ำสุดในตลาดหลักทรัพย์ไทย กลายเป็นกิจการที่เติบโตกำไรสุทธิโดดเด่นที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ของไทยในไตรมาสแรกของปีนี้


ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กและราคาต่ำสุดในตลาดหลักทรัพย์ไทย กลายเป็นกิจการที่เติบโตกำไรสุทธิโดดเด่นที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ของไทยในไตรมาสแรกของปีนี้

ความที่มีขนาดเล็กสุดคือความได้เปรียบยามตลาดธนาคารยุคหลังโควิด-19 ทำให้การพุ่งขึ้นของราคาหุ้นในตลาดวานนี้ น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับผลงานของทีมผู้บริหาร หุ้นไทยที่มีหัวใจอยู่ที่มาเลเซีย

กำไรที่โดดเด่นในไตรมาสแรกของปีนี้ ทำให้ยุคสมัยของการควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน ที่ส่งผลให้ช่วงรายได้ลด กำไรขึ้นสวนทางเพราะคุมหนี้เน่าเก่งขึ้น ผ่านไป……เป็นอดีตที่สะท้อนให้เห็นความยากลำบากยามตลาดขาลง

ปีที่ผ่านมา CIMBT พยายามสื่อเรื่องของกำไรที่ฟื้นคืนตัวกลับมาแข็งแกร่ง ทำให้บุ๊กแวลูที่ระดับ 1.21 บาท สูงกว่าราคาตลาดของหุ้นที่ต่ำเตี้ยใต้ 1.00 บาทมายาวนาน สะท้อนว่าราคาหุ้นมีโอกาสเด้งสูงขึ้นเข้าหาบุ๊กอย่างชัดเจน ล่าสุดราคาที่ขยับมาแถว 0.94 บาท ยังถือว่าต่ำเกินพื้นฐานเกินไป ปีนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมากตั้งแต่เริ่มไตรมาสแรกกันเลยทีเดียว

ผลของการประกาศกำไรสุทธิไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ CIMBT ทำได้โดดเด่นจำนวน 1,061 ล้านบาท เติบโต 210.9% จากระยะเดียวกันปีก่อนหรือเท่ากับประมาณครึ่งปีของปีก่อน ซึ่งนายพอล วอง ชี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ CIMBT รายงานด้วยความภาคภูมิใจว่า เกิดจากเหตุค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลง 14.0% และการตั้งสำรองหนี้สูญลดลง 64% ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียม-บริการเพิ่มขึ้น 24.1% หนี้เสียลดลงไปอยู่ที่ 3.8%

การควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 14.0% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 64.0% ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานลดลง 0.8%

รายได้จากการดำเนินงานสำหรับงวด 3 เดือนปี 2565 มีจำนวน 3,484.1 ล้านบาท ลดลงจำนวน 26.4 ล้านบาท หรือ 0.8% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2564 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 152.9 ล้านบาท หรือ 6.2% จากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้อ และการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 26.7 ล้านบาท หรือ 6.5% เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย

ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิกับรายได้จากการดำเนินงานอื่น ที่เพิ่มขึ้นจำนวน 153.1 ล้านบาท หรือ 24.1% มาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนและรายได้อื่น ๆ

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวด 3 เดือนปี 2565 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2564 ลดลงจำนวน 291.7 ล้านบาทหรือ 14.0% เนื่องจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 อยู่ที่ 51.4% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2564 อยู่ที่ 59.3% อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin–NIM) สำหรับงวดสามเดือนปี 2565 อยู่ที่ 2.8% ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2564 อยู่ที่ 3.1% เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่า

การเติบโตเชิงคุณภาพของเงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 215.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564

สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 8.4 พันล้านบาท ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นของสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นเพราะอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 3.8% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่ 3.7% เป็นผลจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2564 ซึ่งน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของการเพิ่มขึ้นที่จะผ่านไปเหลือไว้แต่ตำนาน

กำไรที่โดดเด่นอย่างน่าทึ่งของธนาคารขนาดเล็กเช่นนี้ เทียบกับหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นในอัตราต่ำ น่าจะช่วยทำให้ราคาหุ้นของ CIMBT ต่ำกว่า 1.00 บาท ที่กำไรสะสม และอัตรากำไรสุทธิพุ่งขึ้นสวนทางกับราคาหุ้นที่ต่ำกว่าบุ๊กแวลูเกือบ 40% น่าจะได้เวลาขยับขึ้นเสียที ไม่ต่ำเตี้ยติดพื้นแบบที่ผ่านมา

ไม่เช่นนั้นความสมเหตุสมผลก็น่าจะใช้การไม่ได้

Back to top button