JTS ท้าทายอำนาจตลาดหุ้น
JTS และ BGT เป็นหุ้น 2 บริษัทจดทะเบียนแรกที่ถูกตลท. ใช้อำนาจสั่งพักการซื้อขายชั่วคราว (SP) เป็นเวลา 1 วันทำการ เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา
เส้นทางนักลงทุน
บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ JTS และบริษัท บีจีที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BGT นับเป็นหุ้น 2 บริษัทจดทะเบียนแรกที่ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ใช้อำนาจสั่งพักการซื้อขายชั่วคราว (SP) เป็นเวลา 1 วันทำการ เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งดำเนินการตามมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์สูงสุด ระดับ 3 ที่กำหนดให้ SP หุ้นนั้น ๆ 1 วันทําการ
โดยในวันทําการถัดไปโบรกเกอร์ยังคงต้องกําหนดให้ลูกค้าต้องซื้อหุ้นด้วยบัญชีเงินสด 100% (Cash Balance), ห้ามนำหุ้นดังกล่าวมาคํานวณวงเงินซื้อขาย และห้ามหักกลบค่าซื้อและค่าขายในวันเดียวกัน (Net Settlement) ต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลา ถือเป็นข้อกำหนดการแจก “ใบแดง” ของมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ใหม่ หลังจาก ตลท.ได้นำมาตรการดังกล่าวนี้ออกมาใช้ มีผลตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ภายหลัง ตลท.ปลดป้าย SP หุ้นของทั้ง 2 บริษัทในวันทำการถัดมา (21 เมษายน) หุ้น BGT ยอมมอบตัว ราคาหุ้นสลดลดความร้อนแรง ทรุดตัวลงทันทีเมื่อเปิดตลาด โดยเคลื่อนไหวในแดนลบเกือบตลอดวันทำการมายืนปิดที่ 2.82 บาท ลดลง 0.12 บาท หรือ ลดลง 4.08%
สวนทางกับหุ้น JTS ที่ดื้อยา ราคายังคงพุ่งทะยานต่อเนื่องทันทีเมื่อเปิดตลาด จนสามารถขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ระหว่างวันที่ 570 บาท เพิ่มขึ้น 3.26% จากราคาปิดครั้งก่อนได้ แต่สุดท้ายก็ต้านทานแรงเทขายไม่ไหว ราคาหุ้นดิ่งลงไปต่ำสุดที่ 500 บาท ลดลง 9.42% ก่อนจะมีแรงซื้อกลับช่วยพยุงให้ยืนปิดได้ ที่ 548 บาท ลดลงเพียง 4 บาท ติดลบ 0.72 %
หุ้น JTS ถือเป็นหุ้นไม่ธรรมดา “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้แกะรอยความเคลื่อนไหวของหุ้นตัวนี้ พบว่า ณ วันที่ 19 เมษายน 2565 ก่อนจะถูก ตลท.แขวนป้าย SP ราคาปิดของหุ้นตัวนี้ อยู่ที่ 552 บาท โดยมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) ทะลุขึ้นไปถึงระดับ 3.89 แสนล้านบาท ด้วยราคาหุ้นที่กระโดดขึ้นมามากกว่า 28,501% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2563 ที่ 1.93 บาท ซึ่งในตอนนั้นบริษัทนี้มีมูลค่าตามราคาตลาดเพียง 1.36 พันล้านบาท
ปัจจุบัน JTS กลายเป็นบริษัทมหาชนที่มีมูลค่ามากที่สุดอันดับ 14 ในตลาดหุ้นไทย และจากความหวือหวาทำให้หุ้นตัวนี้ได้ครองแชมป์ความเป็นหุ้นร้อนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทยไปแล้วด้วย
ในรอบกว่า 1 ปีที่ผ่านมา หุ้น JTS ถูก ตลท.จับขังด้วยมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์มาแล้วไม่น้อยกว่า 12 ครั้ง เริ่มครั้งแรกในเดือน มีนาคม 2564 (23 มีนาคม-12 เมษายน 2564) ภายใต้มาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์แบบเก่า นั่นคือ สมาชิก หรือโบรกเกอร์ต้องดําเนินการให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชี Cash Balance เท่านั้น ทำให้ลูกค้าต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจํานวนก่อนซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นมาตรการเข้มข้นระดับ 1
แต่มาตรการระดับดังกล่าวไม่สามารถหยุดยั้งความร้อนแรงของหุ้นได้ ส่งผลให้ตลอดทั้งปี 2564 จนถึงต้นปี 2565 ตลท.ต้องจับขังหุ้นตัวนี้เข้าด้วยมาตรการทั้งเก่าและใหม่ตั้งแต่ระดับ 1 ถึงระดับ 3 อีก 11 ครั้ง ทำให้หุ้น JTS กลายเป็น บจ.ที่ถูกจับเข้ากรงขังด้วยมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์มากที่สุดของตลาดหุ้นเลยทีเดียว
สำหรับสตอรี่ที่ผลักให้ราคาหุ้น JTS พุ่งทะยานอย่างร้อนแรง คือ การเปลี่ยนแปลงธุรกิจจาก IT Solution มาสู่ธุรกิจขุดเหมือง Bitcoin อย่างเต็มตัว ส่งผลให้ราคาหุ้นของ JTS ไต่ระดับขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2564 ก่อนที่บริษัทจะประกาศการเข้าลงทุนธุรกิจขุดเหมือง Bitcoin ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก่อนหน้านั้น คือ การเข้าซื้อหุ้นบริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด ซึ่งทำธุรกิจโครงข่ายโทรคมนาคมเมื่อเดือน พฤษภาคม 2564
ปัจจุบัน JTS เป็นหุ้นที่มีค่า P/E เรโช สูงถึง 1,764.21 เท่า (ณ 19 เมษายน) จากสิ้นปี 2564 ที่ 555.94 เท่า และสิ้นปี 2563 ที่ 46.97 เท่า ซึ่งค่า P/E ในขณะนี้สูงกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี/เทคโนโลยีสารสนเทศและการศึกษาที่ 40.12 เท่า และสูงกว่าค่า P/E ของตลาดที่ 19.47 เท่า
JTS มีค่า P/BV ที่ 576.25 เท่า จากสิ้นปี 2564 ที่ 152.47 เท่า และสิ้นปี 2563 ที่ 1.36 เท่า ส่งผลให้ค่า P/BV ณ ตอนนี้สูงกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี/เทคโนโลยีสารสนเทศและการศึกษาที่ 3.61 เท่า และสูงกว่าค่า P/BV ตลาดที่ 1.72 เท่า ด้วย
ในระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา หุ้น JTS กลายเป็นหุ้นที่มีราคาสูงที่สุดในตลาดหุ้นไทย โดยราคาเคยปรับตัวขึ้นไปยืนปิดสูงสุด 560 บาท และต่ำสุด 10.70 บาท และหากพิจารณาตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน หุ้น JTS มีอัตราผลตอบแทนจากราคาย้อนหลัง (Adjusted Price) 321.37% เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี/เทคโนโลยีสารสนเทศและการศึกษาที่ 269.72% และเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นที่ 315.67% ถือเป็นหุ้นที่สร้างผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนได้อย่างงาม
แต่ในทางกลับกัน เมื่อพิจารณาจากผลการดำเนินงานย้อนหลังของ JTS ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ราคาหุ้นเริ่มพุ่งทะยานบริษัทมีกำไรสุทธิเพียง 221.04 ล้านบาท มีรายได้รวม 1.87 พันล้านบาท นับว่าราคาหุ้นไม่สอดคล้องกับการสร้างผลกำไรเลย
JTS เป็นหุ้นที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐาน เพราะไม่มีโบรกเกอร์รายใดทำบทวิเคราะห์และประเมินราคาเป้าหมายที่เหมาะสมไว้ จึงเป็นหุ้นที่ต้องระมัดระวังในการลงทุน อย่างไรก็ตาม หากอ้างอิงสัญญาณทางด้านเทคนิคแล้ว เทรนด์ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นยังไม่ได้เปลี่ยน โดยมีแนวต้านที่ 560-570 บาท แต่ ณ ระดับราคาในปัจจุบันถือว่า “ซื้อมากเกินไป” หรือ Overbought จึงมีแรงขายหุ้นออกมา
จึงต้องจับตากันต่อไปว่า ภายหลัง ตลท.งัดมาตรการกำกับการซื้อขายขั้นสูงสุดระดับ 3 ออกมาใช้กำกับหุ้นตัวนี้ มีผลระหว่างวันที่ 20 เมษายน-10 พฤษภาคม 2565 จะดับความร้อนแรงของหุ้น JTS ได้นานขนาดไหน เพราะนี่ถือเป็นบททดสอบความขลังของมาตรการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ใหม่ของ ตลท.ด้วย