รัฐจารีตตัวถ่วง

รัฐไทยวันนี้มีลักษณะเป็น “รัฐเจ้านาย” หรือ “รัฐบิดา” ยิ่งเสียกว่าประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างจีน ซึ่งควบคุมประชาชนเข้มข้น แต่มีความเป็น “รัฐบริการ” ประสิทธิภาพสูง


หลัง “มิลลิ โคเชลลา” จุดกระแส Soft Power ข้าวเหนียวมะม่วง ซึ่งรัฐบาลด้านได้อ้างเป็นผลงาน มิตรสหายรายหนึ่งโพสต์ตั้งปุจฉา “จะเป็นอย่างไรถ้ารัฐบาลเข้ามาสนับสนุน Milli ไป Coachella” แล้วลำดับเป็นข้อ ๆ เช่น

Milli คงต้องเขียนโครงการ “ศิลปินไทยสานฝันต่อยอด Soft Power เฉลิมพระเกียรติ” เสนอรัฐบาล, ซึ่งต้องตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาพิจารณา (เบี้ยประชุมรวมกันอาจแพงกว่าค่าโครงการ), ค่าย YUPP! จำเป็นต้องทำคู่เทียบสามเจ้า หรือเข้าไปเปิด Vendor ในระบบ E-bidding (แต่ก็อาจต้องจ่ายหัวคิว 30%), รัฐบาลขอตรวจสอบเนื้อหา เสื้อผ้า ก่อนขึ้นเวที, ต้องซื้อตั๋วการบินไทยเท่านั้น ถึงจะเบิกได้, Milli ต้องเก็บบิลค่าข้าวเหนียวมะม่วงไว้ถ้าใบเสร็จไม่ครบเบิกไม่ได้, รบกวนส่งเรื่องก่อนเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ก่อนปีงบประมาณ, กลับมาแล้วต้องทำรายงานส่งกรรมการตรวจรับ, ทางค่ายจะได้เงินหลังจากนั้น 3-6 เดือน, ค่าจ้างที่ Milli ได้จาก 88 Rising ต้องยื่นภาษีปีหน้ากรุณาเก็บเอกสารให้ครบ สุดท้าย ต้องไรท์ซีดีเก็บวีดิทัศน์แนบไว้กับโครงการ

ชาวเน็ตกดไลค์ระเบิดหัวเราะร่วมสามหมื่น แชร์ว่อนด้วยความขำขื่น นี่แหละระบบราชการ มาครบทั้งขั้นตอนยุ่งยาก ไร้สาระ ไร้สมอง สิ้นเปลือง ซ้ำยังต้องจ่ายค่าหัวคิวเพื่อความสะดวกรวดเร็ว

ไม่ใช่แค่ Soft Power หรอก ทุกเรื่องเหมือนกัน ภาคธุรกิจทั้งหลายที่ต้องติดต่อราชการก็รู้ดี ยิ่งมีอำนาจมากยิ่งระเบียบจุกจิกยิ่งขัดขวางความเจริญ และยิ่งเอื้อต่อการฉ้อฉล

แม้กระทั่งในระบบราชการเอง ขั้นตอนเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งก็ยุ่งยากไร้สาระ น้อยมากที่ดูจากความสามารถ ยิ่งข้าราชการครูยิ่งอึดอัด กับแบบฟอร์มประเมินผลงานในกระดาษ ไม่กี่วันก่อนมีครูร้องผ่านเพจ ส.ส. ว่าการประเมิน ผอ.ใหม่ ทำให้ครูต้องทิ้งเด็กมาทำเอกสาร ทำแฟ้ม ทำบอร์ด ทำวีดิทัศน์ 10 ตัวชี้วัด ฯลฯ ให้ผู้อำนวยการ แล้วพอกรรมการท่านมาตรวจ ก็ต้องช่วยจัดโต๊ะจับผ้าจับจีบจัดดอกไม้

ระบบราชการไทยใช้จารีตคร่ำครึเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง เคร่งกฎระเบียบพิธีกรรม เพื่อสร้างสถานะเจ้าคนนายคน ในกระทรวงทบวงกรมก็เป็น “ท่าน” กับประชาชนก็เป็นเจ้านาย เป็นผู้อนุมัติ ผู้คุมกฎ หรือผู้อนุเคราะห์ คุ้มครองดูแล ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่บริการอำนวยความสะดวก รับใช้ ในฐานะที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน

รัฐไทยวันนี้มีลักษณะเป็น “รัฐเจ้านาย” หรือ “รัฐบิดา” ยิ่งเสียกว่าประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างจีน ซึ่งควบคุมประชาชนเข้มข้น แต่มีความเป็น “รัฐบริการ” ประสิทธิภาพสูง

ได้อ่านข่าวไรเดอร์ไทยในเมลเบิร์นไหม ที่บอกว่ารายได้เกือบสองแสน ปั่นจักรยานไปด้วยชมเมืองไปด้วย บ้านเมืองเขาสวยเกินบรรยาย ต้นไม้ สวนสาธารณะ เลนจักรยาน “ภาษีกลายเป็นถนนหนทางที่ดี ใช้เงินภาษีได้คุ้มมาก ๆ”

นั่นแหละสาเหตุที่คนรุ่นใหม่หนีไปอยู่ต่างประเทศ ถนนพระรามสองสร้างเสร็จหรือยัง ขยายถนนเสร็จ เซ็นรับงาน แล้วทุบสร้างใหม่ ทำถนนสองชั้น

มีเรื่องเล่าขำ ๆ ว่าโรงพยาบาลอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย สร้างตึกใหม่ แต่ขออนุมัติแบบไว้นานแล้ว แก้แบบก็ไม่ได้ เพราะขั้นตอนยุ่งยาก เดี๋ยวต้องคืนงบเก่าของบใหม่ใช้เวลาหลายปี ก็จำเป็นต้องสร้างให้เสร็จ เซ็นรับงานแล้วค่อยทุบ เพื่อรื้อระบบน้ำไฟระบบระบายอากาศ ให้เข้ากับเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่

อันที่จริง หลายสิบปีที่ประชาธิปไตยพัฒนา รัฐราชการไทยลดความเป็นเจ้าขุนมูลนาย “รับใช้ประชาชน” มากขึ้น แต่รัฐประหาร 2 ครั้งสร้างค่านิยม “ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน ต้องเป็นคนดีคนเก่ง” เช่นการสร้างโครงการ “จำขึ้นใจ” ที่เอามาใช้แต่งเพลงหลังรัฐประหาร 2557

ฟังเผิน ๆ ก็เหมือนดี ที่เน้นให้ข้าราชการเป็นผู้อนุเคราะห์ คุ้มครองดูแล แต่มันมาพร้อมกับการเพิ่มอำนาจ อ้างเป็นคนดี จึงเป็นเจ้านาย แล้วกลายเป็นพันธนาการขัดขวางความเติบโตก้าวหน้าของประเทศ

Back to top button