สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 25 เม.ย. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 25 เม.ย. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันจันทร์ (25 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนช้อนซื้อในช่วงท้ายตลาด ขณะที่ดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า 1% หลังจากราคาหุ้นทวิตเตอร์ทะยานขึ้นกว่า 5% ขานรับข่าวนายอีลอน มัสก์ บรรลุข้อตกลงซื้อกิจการทวิตเตอร์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,049.46 จุด เพิ่มขึ้น 238.06 จุด หรือ +0.70%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,296.12 จุด เพิ่มขึ้น 24.34 จุด หรือ +0.57% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,004.85 จุด เพิ่มขึ้น 165.56 จุด หรือ +1.29%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงในวันจันทร์ (25 เม.ย.) โดยหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลงอย่างหนัก ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของสหรัฐ

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 445.11 จุด ลดลง 8.20 จุด หรือ -1.81%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,449.38 จุด ลดลง 132.04 จุด หรือ -2.01%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,924.17 จุด ลดลง 217.92 จุด หรือ -1.54% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,380.54 จุด ลดลง 141.14 จุด หรือ -1.88%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงในวันจันทร์ (25 เม.ย.) เนื่องจากหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์และกลุ่มธนาคารนำตลาดร่วงลงเกือบ 2% ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายในช่วงเริ่มต้นสัปดาห์ของการเปิดเผยผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทจดทะเบียน

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,380.54 จุด ลดลง 141.14 จุด หรือ -1.88%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงในวันจันทร์ (25 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า การที่จีนล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้เป็นเวลานาน และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 3.53 ดอลลาร์ หรือ 3.5% ปิดที่ 98.54 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2565

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ดิ่งลง 4.33 ดอลลาร์ หรือ 4.1% ปิดที่ 102.32 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนในวันจันทร์ (25 เม.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และความกังวลที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 38.3 ดอลลาร์ หรือ 1.98% ปิดที่ 1,896 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. 2565

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 58.9 เซนต์ หรือ 2.43% ปิดที่ 23.67 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 22.4 ดอลลาร์ หรือ 2.42% ปิดที่ 905 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 254.20 จุด หรือ 10.69% ปิดที่ 2,122.10 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (25 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสงครามอันยืดเยื้อระหว่างรัสเซียยูเครน และการล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ของจีนที่ย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 0.53% แตะที่ 101.7530

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9590 ฟรังก์ จากระดับ 0.9568 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2729 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2717 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 128.01 เยน จากระดับ 128.59 เยน

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0714 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0789 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2734 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2825 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7168 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7239 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button