พาราสาวะถีอรชุน

คงไม่ใช่การโยนหินถามทางอย่างแน่นอน จับอาการได้จากการแถลงข่าวตอกย้ำถึงสองครั้งสองหนของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ยืนยันระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมจะทำให้เกิดความปรองดองได้ (จริงหรือ) และเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองขนาดกลางขนาดเล็ก การให้ข่าวแบบถี่ยิบพูดของข้อดีพูดแล้วพูดอีก นี่ย่อมเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าระบบเลือกส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องเดินกันไปตามแนวทางนี้


คงไม่ใช่การโยนหินถามทางอย่างแน่นอน จับอาการได้จากการแถลงข่าวตอกย้ำถึงสองครั้งสองหนของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ยืนยันระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมจะทำให้เกิดความปรองดองได้ (จริงหรือ) และเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองขนาดกลางขนาดเล็ก การให้ข่าวแบบถี่ยิบพูดของข้อดีพูดแล้วพูดอีก นี่ย่อมเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าระบบเลือกส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องเดินกันไปตามแนวทางนี้

ส่วนที่เกรงกันว่า ถ้าเดินแนวนี้แล้วมีโอกาสที่จะไม่ผ่านการทำประชามติสูง อย่าประมาทเนติบริกรขาใหญ่ ถ้าไม่มีแผนรองรับคงไม่ขยับทั้งๆ ที่รู้ว่าจะเกิดกระแสต่อต้าน แต่หากไม่ผ่านความเห็นชอบจริงๆ ก็ไม่ใช่กงการอะไรของกรธ.เพราะถือว่าได้ทำหน้าที่เสร็จสิ้นแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องของคสช.ล้วนๆ จะไปหยิบรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาปัดฝุ่นหรือจะเดินกันอย่างไรขึ้นอยู่กับองค์รัฏฐาธิปัตย์

เมื่อเป็นเช่นนั้นการประกาศปิดประเทศผ่านที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายจึงไม่น่าจะใช่อารมณ์ขันหรือกลอนพาไปอย่างแน่นอน หากแต่เป็นความตั้งใจและสอดรับกันเป็นทอดๆ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามตินั่นหมายความว่า ผู้มีอำนาจที่พร่ำบอกว่าไม่อยากเข้ามาอยู่ในตำแหน่งก็จำใจจะต้องอยู่ยาวจะอีกกี่ปีคงไม่มีปัญหา เพราะมีมาตราไม้วิเศษอย่างม.44 เป็นเครื่องมือกำราบกลุ่มต่อต้านอยู่

ไม่ว่าใครก็ตามคงมองไปในทางเดียวกัน มิติทางการเมืองไม่ใช่ปมที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลคสช. ประเด็นปากท้องความเดือดร้อนของประชาชนและเศรษฐกิจที่ดิ่งเหวต่างหากคือคำตอบสุดท้าย หากอ่านใจผู้มีอำนาจแล้ว เวลานี้คงหวังว่ามาตรการที่ทีมเศรษฐกิจได้ดำเนินการไปจะเกิดมรรคเกิดผลในเวลาอีกไม่นาน

แต่ลำพังของการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก กรณีโครงการกองทุนหมู่บ้านนั่นอาจเห็นผลได้บ้าง ที่จะเป็นคำถามและยังคาราคาซังกันอยู่คือ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาท เห็นได้จากความเป็นห่วงของ วิชา มหาคุณ ที่ออกโรงเตือนกันดังๆ แม้จะไม่ได้ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเหมือนโครงการจำนำข้าว ทว่านี่ย่อมเป็นภาพสะท้อนกลิ่นไม่ค่อยดีของโครงการ

ขณะที่ล่าสุด กาย มีประไพ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ตำบลคุ้มตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ออกมาโวยต่อการเสนอโครงการเพื่อของบประมาณดังกล่าว ปรากฏว่าส่งไปให้พิจารณาถึง 3 รอบ ก็ถูกตีกลับทั้ง 3 รอบ โดยผู้มีอำนาจพิจารณาอ้างว่าโครงการนั้นโครงการนี้ไม่สามารถทำได้ ผิดหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณตามโครงการ

ทำให้ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ตำบลคุ้มตะเภาแสดงความเหลืออดต่อกระบวนการดังว่า ถึงกับลั่นวาจาเสนอไปเป็นครั้งที่ 4 แล้ว หากถูกตีกลับอีกจะไม่เอางบประมาณโครงการนี้อีกแล้ว เพราะรู้สึกเบื่อหน่ายกับการแก้ไขทำโครงการให้ตรงกับความพอใจของผู้มีอำนาจ ทั้งที่ทุกโครงการที่เสนอไปก็ผ่านการทำประชาคมล้วนแต่เป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

ดูเหมือนว่ากระบวนการขั้นตอนของฝ่ายผู้มีอำนาจพิจารณาจะเป็นการป้องกันการทุจริต แต่พอฟังข้อมูลที่ผู้ใหญ่กายบอกกับนักข่าวแล้ว น่าจะมีส่วนจริงที่คนในรัฐบาลหรือคสช.ต้องเข้าไปตรวจสอบ นั่นก็คือ หากเป็นที่เกี่ยวข้องกับการต้องใช้เครื่องจักรกลหนัก โดยเฉพาะโครงการที่เป็นการก่อสร้างถนนคอนกรีตจะผ่านโดยไม่มีข้อติติงแต่อย่างใด

จากนั้นจึงตามมาด้วยคำถามของบรรดาผู้ใหญ่บ้านที่เรื่องถูกตีกลับว่า ไม่เข้าใจทำไมต้องเน้นไปที่โครงการทำถนนคอนกรีตอย่างเดียวหรือต้องการล็อกงานเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมารายใดหรือไม่ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ กรณีนี้น่าเข้ากับข้อห่วงใยของคนแวดวงการเมืองที่รู้กระบวนการของพวกที่หากินกับงบประมาณได้เป็นอย่างดี

โดยที่ก่อนหน้านั้น มีคนมากระซิบว่า ให้จับตาดูให้ดีโครงการตำบลละ 5 ล้านที่หวังจะสร้างงานและทำให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น สุดท้าย เม็ดเงินจะถูกผลักไปที่โครงการซึ่งต้องใช้เครื่องจักรกลเสียเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน และยังมีขาใหญ่ที่สามารถแบ่งปันผลประโยชน์กันมาโดยตลอดดูแลอยู่

จริงหรือไม่คงต้องรอดูหลังงบประมาณถูกสั่งจ่ายไปแล้วและไปไล่เรียงดูโครงการที่เกิดขึ้นของทุกตำบลว่าทั้งประเทศจะมีอะไรที่แตกต่างกันหรือไม่ หากมีความคล้ายกันเสียส่วนใหญ่ องค์รัฏฐาธิปัตย์คงไม่มองว่านี่เป็นเรื่องปกติ เว้นเสียแต่ว่ารู้อยู่แล้วมันจะต้องเป็นไปในรูปแบบนี้นั่นก็อีกเรื่อง แต่มันจะสะเทือนต่อความเชื่อมั่นในการชูธงปราบปรามคอร์รัปชั่นของรัฐบาลและคสช.

ยังเป็นประเด็นที่เกิดข้อถกเถียงกันต่อเนื่องกรณีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 39/2558 ใช้อำนาจตามมาตรา 44 คุ้มกะลาหัวเจ้าหน้าที่ที่บริหารจัดการข้าวคงเหลือในการดูแลรักษาของรัฐตามโครงการรับจำนำข้าว กับเหตุผลที่ว่าเพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่กระทำการโดยสุจริต อันก่อให้เกิดคำถามในทำนองย้อนแย้งต่อสิ่งที่กระทำกันลงไปนั่นก็คือ ในเมื่อทำไปโดยสุจริตแล้วทำไมต้องกลัวการถูกฟ้องร้องใดๆ

การออกคำสั่งลักษณะนี้ คงเป็นการชี้ถึงการคุ้มครองในการทุจริตเกี่ยวกับการระบายข้าวในอนาคต เพราะการทุจริตระบายสินค้าการเกษตรส่วนสำคัญต้องทำให้คุณภาพของพืชผลทางการเกษตรเสื่อมคุณภาพลงก่อนแล้วจึงระบายขายออกไป เช่น ยางพาราจะขายเป็นเศษยางหรือถ้ามีสต๊อกลมโกดังต้องถูกไฟไหม้ อันเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกับการทุจริตเป็นประจำแทบทุกปี

กรณีนี้คิดว่าข้าวในโครงการรับจำนำข้าวหากส่วนที่ดีเวลานี้ราคาตันละ 12,000 บาท ถ้าทำให้ข้าวเสื่อมสภาพแล้วระบายออกที่ระดับ 3,000-5,000 บาท ส่วนต่างเกิดขึ้นเท่าไหร่ แล้วจะต้องมีการจ่ายเงินทอนขนาดไหน เช่นนี้จะคิดว่าเป็นการจัดการกับการทุจริตหรือเปิดช่องให้มีการทุจริตแล้วไม่มีความผิดกันแน่ บรรดาคนดีทั้งหลายน่าจะรู้อยู่แก่ใจดี

Back to top button