ฝ่ายค้านและอีแร้งการเมือง

ปัญหาโครงการท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนอีสท์ วอเตอร์ บริหารงานมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี เกิดเรื่องฉาวโฉ่ขึ้นมาในลักษณาการที่แปลก ๆ เอาการอยู่มาก


ปัญหาโครงการท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนอีสท์ วอเตอร์ บริหารงานมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี เกิดเรื่องฉาวโฉ่ขึ้นมาในลักษณาการที่แปลก ๆ เอาการอยู่มาก

ฝ่ายค้านพรรคใหญ่ที่สุดคือพรรคเพื่อไทย ดันไปขอพลังจากพรรคเล็กปัดเศษ คัดค้านการเซ็นสัญญาระหว่างกรมธนารักษ์กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ผู้ชนะประมูล ที่เสนอผลตอบแทนสูงกว่าผู้รับสัมปทานเดิมเป็นอันมาก

ไม่น่าเชื่อแต่ก็เป็นความจริงให้เห็นกันแล้วว่า ช่วง 30 ปีที่บริษัทอีสท์ วอเตอร์เข้ามาบริหารจัดการน้ำ มีการนำส่งค่าเช่าเข้ารัฐเพียง 600 ล้านบาทเท่านั้น นี่มันอะไรกันเนี่ย เฉลี่ยแล้วส่งรายได้เข้ารัฐเพียงปีละ 20 ล้านบาทเท่านั้น

มันถูกแสนถูกอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเทียบกับรายได้บริษัทแม้ในช่วงโควิดปี 63-64 ก็ยังมีรายได้รวม 4.2 พันล้านบาท และ 4.7 พันล้านบาทตามลำดับ ส่วนกำไรสุทธิก็อยู่ในระดับ 764 ล้านบาท และ 1,061 ล้านบาท การจ่ายเงินปันผลก็ดีในระดับ 5.8%

ณ สิ้นสุด 31 ธ.ค. 64 บริษัทมีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรสูงถึง 6,842 ล้านบาท

บริษัท EASTW แห่งนี้ ถือว่ามีฐานะการเงินที่ดีมาก ๆ ก็คงจะเป็นเพราะการจ่ายผลตอบแทนเข้ารัฐในระดับที่ต่ำมาก ๆ ในขณะที่มีรายรับในระดับสูงมากนี่เอง

สนนราคาค่าน้ำดิบที่แจกจ่ายให้โรงงานอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก มีตั้งแต่ 9.9 บาท/ลูกบาศก์เมตร, 12.47 บาทในพื้นที่มาบตาพุด-สัตหีบ, 12.39 บาทในพื้นที่ปลวกแดง-บ่อวิน 12.39 บาท และพื้นที่ชลบุรี 13.46 บาท

บริษัท ไทยออยล์ ยังบริโภคน้ำในราคากว่า 20บาท/ลูกบาศก์เมตรด้วยซ้ำ ถ้าเป็นภาษาใต้ก็ต้องบอกว่ามันแพงจังหู ในขณะที่ต้นทุนผู้ให้บริการต่ำเตี้ยน้อยนิด

การที่ส.ส.พรรคเพื่อไทยระดับรองหัวหน้าพรรคและกลุ่มส.ส.ปัดเศษที่เรียกว่ากลุ่ม 16 และมีเรื่องราวฉาวโฉ่ในทำนอง “เขย่าต้นกล้วย” อยู่เนือง ๆ ออกมากล่าวหาว่า มีการล้มประมูลครั้งที่ 1 โดยไม่ชอบ

ทางกรมธนารักษ์ก็มีการชี้แจงกลับมาแล้วว่า ทีโออาร์มีความบกพร่องในเรื่องความสามารถในการจำหน่ายน้ำ ซึ่งผู้ประมูลเสนอมาบนฐานที่ไม่เท่ากัน ทำให้การพิจารณายากจะเกิดความเที่ยงธรรม และบางบริษัทก็เสนอตัวเลขเกินกว่าความสามารถในการจำหน่ายจริง

อย่างเช่น EASTW เสนอปริมาณขายน้ำดิบในปีแรกถึง 350 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีผลศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ที่กรมธนารักษ์ว่าจ้าง และผลศึกษาของการประปาภูมิภาคเองก็ยืนยันปริมาณการขายน้ำดิบไม่เกินปีละ 150 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น

อย่างร้ายที่สุดก็คือ อีสท์ วอเตอร์เอง ก็ยังจำหน่ายน้ำดิบผ่านระบบท่อของกรมธนารักษ์ในปี 2563 เพียง 145 ล้านบาทเท่านั้น หากไม่ล้มประมูล ปล่อยให้ผู้ชนะประมูลเข้าบริหาร แล้วทำตามข้อเสนอไม่ได้ ใครจะรับผิดชอบผลประโยชน์รัฐที่เสียหาย

นอกจากนั้น การประมูลครั้งที่ 1 ที่ล้มไป ทางผู้ชนะคืออีสท์ วอเตอร์ก็เสนอราคาผลตอบแทนตลอดอายุสัญญา 30 ปีเพียง 3,770 ล้านบาทเท่านั้น ในขณะผู้เสนอราคาอันดับ 2 คือวงษ์สยาม ยังเสนอผลตอบแทนถึง 6,331 ล้านบาท

หากไม่ล้มประมูลครั้งที่ 1 แล้วได้ผู้ชนะเป็น EASTW รัฐจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นมาหน่อย จาก 30 ปีที่แล้วแค่ 600 ล้านบาทมาเป็น 3,770 ล้านบาท

ไม่ล้มประมูลได้ยังไง! ในเมื่อกฎหมายเปิดช่อง และศาลปกครองกลางก็ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของ EASTW ไปแล้ว

การประมูลครั้งที่ 2 ที่ปิดช่องโหว่เรื่องทีโออาร์นี่สิ ผลประโยชน์ตอบแทนเจ้ารัฐตลอดอายุสัญญา 30 ปี สูงกว่าการประมูลครั้งที่ 1 เป็นอันมาก ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเงินตอบแทนโบราณแค่ 600 ล้านบาท

ผู้ชนะการประมูลคือวงษ์สยามฯ ให้ผลตอบแทนจากหลักพันเป็นหลักหมื่นที่ 2.5 หมื่นล้านบาท และผู้แพ้ประมูลคือ EASTW ผู้รับสัมปทานเดิม ขยับตัวเลขสู้ขึ้นมาจาก 3.7 พันล้านบาทเป็น 2.4 หมื่นล้านบาท

เสนอขอศาลปกครองกลางคุ้มครอง ก็ถูกยกคำร้องอีก ศาลให้เดินหน้าเซ็นสัญญาผู้ชนะกับกรมธนารักษ์ได้จนกำหนดวันจรดปากกาเรียบร้อยแล้วในวันที่ 3 พ.ค. 65 แต่ในที่สุดก็มีการเลื่อนเซ็นสัญญาจนได้

ไม่รู้ว่า รัฐบาลกลัวอะไรนักหนากับพลัง “เขย่าต้นกล้วย” และฝ่ายค้านก็ทำตัวแปลก ที่ยอมรับผลตอบแทนรัฐราคาต่ำ แต่สกัดผลประโยชน์รัฐราคาสูง

Back to top button