กพช. เคาะรับซื้อ “ไฟฟ้าขยะชุมชน” 34 โครงการ 282.98 MW
คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เห็นชอบรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชนรายเล็ก “VSPP-SPP” จำนวน 36 โครงการ จำนวน 282.98 เมกะวัตต์ พร้อมกำหนดเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2568-2569
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ใช้สำหรับ 34 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 282.98 เมกะวัตต์ และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2568-2569 โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 65 ภายใต้แผน PDP2018 Rev.1
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้แผน PDP 2018 Rev.1 เป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้การแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศเป็นวาระแห่งชาติ ที่ผ่านมาการกำจัดขยะส่วนใหญ่ใช้วิธีฝังกลบส่งผลกระทบต่อการจัดหาพื้นที่ในการกำจัดขยะ ดังนั้นการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการเผาขยะแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากทำให้ปริมาณขยะลดลงอย่างรวดเร็ว และเป็นการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกด้วย อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการดังกล่าว ต้องให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์และดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
ขณะเดียวกันที่ประชุมรับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ.2564-2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) รวมทั้งเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและข้อเสนออัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff สำหรับปี พ.ศ. 2565-2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการออกระเบียบ ประกาศการรับซื้อไฟฟ้าและกำกับดูแลการคัดเลือกตามขั้นตอนต่อไป
อีกทั้งในการประชุม กพช.เพื่อเร่งขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศโดยการจัดหาพลังงานสะอาดตามแผน BCG ซึ่งครอบคลุมการผลิตไฟฟ้าจากขยะด้วยเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมไปถึงการใช้พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ ตลอดจนพลังงานน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งครอบคลุมทุกมิติ โดยย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเร่งเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย Net-Zero Carbon Emission ของประเทศไทยให้ได้ 40% ภายในปี พ.ศ.2573 ตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้แล้วต่อการประชุม COP26
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ดำเนินการโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) เป็นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม โครงการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อการเกษตร และโครงการระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน โดยใช้งบประมาณภาครัฐดำเนินการตามแผน PDP เพื่อจัดหาไฟฟ้าให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่ระบบไฟฟ้าฐานเข้าไม่ถึงได้มีไฟฟ้าใช้ในการดำเนินชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า และบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนต่อปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศ สร้างสังคมคาร์บอร์ต่ำ และยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ รวมทั้งทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้สถานการณ์พลังงานขณะนี้ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ว่ายังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง จึงขอให้ทุกคนร่วมมือกันประหยัดพลังงานควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้มากขึ้น โดยหน่วยงานรัฐจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการประหยัดพลังงานของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้เสนอมาตรการการลดใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐต่อคณะรัฐมนตรีแล้ว โดยให้มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและมีการประเมินผล โดยต้องลดใช้พลังงานให้ได้ 20% จึงขอให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม แล้วรายงานผลผ่านช่องทางตามที่กำหนดภายในห้วงเวลาที่กำหนดไว้ด้วย
อย่างไรก็ดีนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ทุกอย่างที่รัฐบาลดำเนินการทั้งที่ผ่านมาและปัจจุบันทำด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น และมีเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ จึงขอเน้นย้ำให้ทุกคนในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งระดับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติให้ทำหน้าที่ด้วยความสุจริต โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ คุ้มค่า และอย่าให้ถูกนำไปบิดเบือนโดยเด็ดขาด ต้องมีการชี้แจงตอบคำถามให้ได้และดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง