WTI พุ่งต่อเหนือ 109 เหรียญ ท่ามกลางภาวะน้ำมันตึงตัว
ราคาน้ำมัน WTI พุ่งต่อเหนือระดับ 109 เหรียญ ท่ามกลางภาวะน้ำมันตึงตัว โดย ณ เวลา 21.27 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 91 เซนต์ หรือ 0.84% สู่ระดับ 109.17 ดอลลาร์/บาร์เรล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(6พ.ค.65)สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 109 ดอลลาร์ในวันนี้ และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน ท่ามกลางภาวะน้ำมันตึงตัวในตลาด
โดย ณ เวลา 21.27 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 91 เซนต์ หรือ 0.84% สู่ระดับ 109.17 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยราคาน้ำมันได้แรงหนุนจากผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัสวานนี้(5พ.ค.65)
ทั้งนี้ โอเปกพลัสมีมติยึดมั่นตามข้อตกลงเดิมในการกำหนดนโยบายการผลิตสำหรับเดือนมิ.ย. โดยจะยังคงเพิ่มกำลังการผลิต 432,000 บาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนพ.ค.
โอเปกพลัสมีมติดังกล่าว แม้ว่าสหรัฐและหลายชาติที่นำเข้าน้ำมันต่างเรียกร้องให้โอเปกพลัสเพิ่มการผลิตให้มากขึ้นกว่าในระดับปัจจุบัน หลังจากที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเหนือระดับ 139 ดอลลาร์/บาร์เรลในเดือนมี.ค. ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 หลังจากที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน
อย่างไรก็ดี โอเปกพลัสอ้างว่าทางกลุ่มไม่ควรถูกตำหนิ หรือรับผิดชอบต่อการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันที่เกิดจากภาวะตึงตัวในตลาดขณะนี้ เนื่องจากเป็นปัญหาที่ชาติตะวันตกก่อขึ้นเองในการคว่ำบาตรรัสเซีย นอกจากนี้ โอเปกพลัสยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันที่จะได้รับผลกระทบจากการที่จีนประกาศล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้และบางส่วนของกรุงปักกิ่งเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า หากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เห็นพ้องกับชาติตะวันตกในการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอย่างมาก ก็จะสร้างความขัดแย้งกับรัสเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกโอเปกพลัสเช่นกัน และอาจนำไปสู่การล่มสลายขององค์กรดังกล่าว
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้ปัจจัยบวกจากการที่นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) เสนอให้ประเทศสมาชิก EU ระงับการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นจากรัสเซีย เพื่อตอบโต้ต่อการที่รัสเซียใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน
ทั้งนี้ นางฟอน เดอร์ เลเยน เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภายุโรปว่า EU จะระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียภายในเวลา 6 เดือน และระงับนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นจากรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ โดยจะระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียอย่างสิ้นเชิง ซึ่งรวมถึงการขนส่งน้ำมันทางทะเลและท่อส่งน้ำมัน, น้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่น
สำหรับมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียในครั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิก EU ทั้งหมด 27 ประเทศ ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ฮังการีและสโลวาเกียจะยังคงสามารถซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียภายใต้ข้อตกลงปัจจุบันจนถึงสิ้นปี 2566