“อุตุฯ” ประกาศไทย เข้า “ฤดูฝน” ปลายสัปดาห์นี้ เตรียมรับมือพายุหมุนเขตร้อน 2 ลูก
“กรมอุตุนิยมวิทยา” ออกประกาศ “ไทย” เริ่มเข้าสู่ “ฤดูฝน” ปลายสัปดาห์นี้ เตือนประชาชนเตรียมรับมือพายุหมุนเขตร้อน 1-2 ลูก
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ลักษณะอากาศในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นบริเวณทะเลอันดามัน ซึ่งมีโอกาสพัฒนาแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่น และพายุไซโคลน แล้วมีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าใกล้ด้านตะวันตกของประเทศไทย
โดยลมที่พัดพาความชื้นจากทะเลอันดามันและอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศ ได้เปลี่ยนเป็นลมทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประกอบกับมีร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องฝน พาดผ่านตอนกลางของประเทศ และมีรายงานสภาวะฝนตกหนัก ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง มากกว่า 35.1 มิลลิเมตรขึ้นไปติดต่อกันอย่างน้อย 3 วันขึ้นไป บริเวณสถานีตรวจวัดอุตุนิยมวิทยา ทางด้านภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ส่วนผลการวิเคราะห์ที่เป็นไปตามเงื่อนไขนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้ ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งจะทำให้บริเวณด้านตะวันตกของประเทศ ,บริเวณภาคเหนือ, ภาคกลาง, ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคใต้ จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น กลุ่มฝนมีการกระจายตัวดีอย่างสม่ำเสมอทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม 2565 มักจะมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก และเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทางด้านภาคใต้ฝั่งตะวันตกและบริเวณด้านรับมรสุม โดยเฉพาะภาคตะวันออก
ส่วนในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ส่วนใหญ่มักจะเกิดสภาวะฝนลดลงหรือฝนทิ้งช่วง โดยปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงอย่างมาก และอาจก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำ ทั้งทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรมต่างๆ ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน
ดังนั้น ปริมาณฝนจะเริ่มตกเพิ่มมากขึ้นหลังจากกลางเดือนกรกฎาคม เป็นต้นไปถึงราวๆ กลางเดือนตุลาคม พร้อมกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลจีนใต้ ซึ่งมีโอกาสพัฒนาเป็นพายุดีเปรสชั่น โซนร้อน และไต้ฝุ่น รวมถึงมีโอกาสเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตกเข้ามาอิทธิพลต่อบ้านเรา
อย่างไรก็ดีในฤดูฝนปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะมีพายุเข้ามาในไทย 1-2 ลูก โดยพายุหมุนเขตร้อนลูกที่ 1 จะเข้าผ่านเข้ามายังประเทศเวียดนาม, ลาว, ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของประเทศไทยราวๆ เดือนกรกฎาคมไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม ส่วนพายุหมุนเขตร้อนลูกที่ 2 จะผ่านเข้ามาทางทะเลจีนใต้ผ่านปลายแหลมญวน และภาคใต้ของประเทศไทยราวๆ กลางเดือนตุลาคมไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม และมีอิทธิพลต่อสภาพอากาศภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูฝนของภาคใต้ด้วย