DMT โชว์กำไร Q1 แตะ 144 ลบ. ปักธงรายได้ทางด่วนปีนี้โต 50%

DMT เปิดผลงานในไตรมาส 1/65 กำไรสุทธิ 144.2 ลบ. เติบโตต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ กางเป้ารายได้ค่าผ่านทางปีนี้แตะ 1.9 พันลบ. โตกว่า 50% รับปริมาณการจราจรฟื้นตัวคึกอานิสงส์จากการเปิดประเทศ-เปิดเรียนออนไซต์


นายธานินทร์ พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เปิดเผยว่า ผลประกอบการในไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 144.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2564 โดยผลประกอบการในไตรมาส 1/2565 ของบริษัทฯ ยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สายพันธุ์ โอมิครอน ก็ตาม เนื่องจากบริษัทฯ สามารถบริหารจัดการด้านต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และไม่มีภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยกับสถาบันการเงิน จึงส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินปรับลดลง ทั้งนี้ บริษัทฯ มีรายได้ค่าผ่านทางอยู่ที่ 355.29 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.3 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2564 ที่มีรายได้ค่าผ่านทางอยู่ที่ 383.27 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณจราจรบนทางยกระดับที่ปรับลดลง

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ ดำเนินงานต่อเนื่องในการยกระดับและการวางรากฐานการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน (Sustainability Development) โดยมีโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ที่บริษัทฯ ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2565 ประกอบไปด้วย 1.โครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำใต้ทาง เปลี่ยนท่อระบายน้ำแยกลาดพร้าว แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 2.การเชื่อมต่อข้อมูลด้านการจราจร ศูนย์บริหารจัดการจราจรและอุบัติเหตุ กรมทางหลวง (Traffic Operation Center: TOC) เป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือด้านการจราจร บริษัทฯ ได้สนับสนุนภาพจากกล้อง CCTV จำนวน 26 กล้องบนทางยกระดับ แสดงผลที่ศูนย์ฯ ได้เรียบร้อย

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนปีนี้ ประกอบด้วย 1.การพัฒนาระบบตรวจจับอุบัติการณ์แบบอัตโนมัติ (Automatic Incident Detection System) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย โดยกำหนดเปิดใช้งานในไตรมาส 3/2565  2.โครงการตรวจสอบและประเมินความมั่นคงแข็งแรงโครงสร้างทางยกระดับ (Project of Inspection and Assessment for Tollway Elevated Structure) กำหนดแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2565  3.การพัฒนาการชำระด้วย QR Payment โครงการศึกษาและพัฒนาระบบเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติ “แบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow)” บริษัทฯ ได้ปรับปรุงกายภาพของด่านดินแดงแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2565 เพื่อทดสอบและติดตั้งระบบการตรวจจับยานพาหนะแบบอัตโนมัติ และจะมีการทดสอบการเชื่อมต่อข้อมูลกับระบบ Single Platform ของกรมทางหลวงในช่วงไตรมาส 2/2565 รวมทั้งมีการเตรียมการปรับปรุงระบบ Network System เพื่อรองรับระบบ M-Flow บนทางยกระดับอุตราภิมุข ทั้ง 9 ด่าน และติดตั้งระบบ M-Flow ต่อไป

ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ DMT กล่าวเสริมว่า คาดการณ์แนวโน้มปริมาณจราจรในไตรมาส 2/2565 น่าจะฟื้นกลับอย่างรวดเร็วตามระดับของมาตรการผ่อนคลายกิจกรรมของภาครัฐ ที่ขณะนี้ ภาครัฐมีความชัดเจนในการเปิดประเทศ ซึ่งจะทำให้การเดินท่องเที่ยว และการเดินทางระหว่างประเทศกลับมาอีกครั้ง

อีกทั้งการเตรียมความพร้อมในการให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น จากสถิติผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดต่ำลงอย่างมาก และการที่สถาบันการศึกษามีนโยบายการเปิดภาคเรียนแบบ Onsite เต็มรูปแบบในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 นี้   ซึ่งจะสนับสนุนการเดินทางและปริมาณจราจรบนทางยกระดับให้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากลักษณะธุรกิจของบริษัทฯ เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานประเภททางด่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเดินทาง ทำให้คาดว่าธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้การฟื้นตัวจะเกิดขึ้นเร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพราะทุกภาคส่วนยังจำเป็นต้องมีกิจกรรมการเดินทาง หรือ การคมนาคมยังมีความจำเป็นต่อเนื่องตลอดเวลา รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบทางยกระดับดอนเมืองและการขยายตัวของชุมชน ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยบริษัทฯ คาดการณ์รายได้ค่าผ่านทางในปีนี้อยู่ที่ 1.9 พันล้านบาท คิดเป็นรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 5.25 ล้านบาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 จากปีก่อนที่มีรายได้ค่าผ่านทางอยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท โดยประมาณการดังกล่าวสะท้อนจากสภาพการจราจรที่ใกล้เคียงมากที่สุด  รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรน่า 2019 หรือ COVID-19

ทั้งนี้  ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 บริษัทฯ ไม่มีภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยกับสถาบันการเงิน ด้วยหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในระดับที่ต่ำมากอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (เท่า)(D/E Ratio) เท่ากับ 0.07 อัตราส่วนสภาพคล่อง ปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.36 เท่า เป็น 1.81 เท่า เมื่อเปรียบเทียบ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564

รวมทั้งมีวงเงินหมุนเวียนเพื่อสำรองไว้ใช้ในกิจการ ซึ่งยังมิได้เบิกใช้เป็นจำนวนเงินรวม 1,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ได้ในระยะยาว รวมทั้งมีความพร้อมในการขยายกิจการในการเข้าร่วมประมูลโครงการที่ภาครัฐเปิดประมูลเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน(Public Private Partnership) ในระหว่างปี 2565-2566 หลายโครงการ และมีความพร้อมในงานโครงการอื่น ๆที่ไม่ใช่ทางด่วนหรือทางพิเศษ (Non-Toll Business)

Back to top button