“ดาวโจนส์” พลิกปิดบวก 9 จุด หลังซื้อขายผันผวน วิตกศก.ถดถอย
“ดาวโจนส์” พลิกปิดบวก 9จุด สาเหตุเกิดจากซื้อขายผันผวน ทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในวันศุกร์ (20 พ.ค.2565) หลังจากที่การซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน แต่ดัชนีดาวโจนส์ยังคงปรับตัวลงในรายสัปดาห์เป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายนในปี 2475 ซึ่งเป็นช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ปิดลบเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดภาวะฟองสบู่ดอทคอมในปี 2544
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,261.90 จุด เพิ่มขึ้น 8.77 จุด หรือ +0.03%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,901.36 จุด เพิ่มขึ้น 0.57 จุด หรือ +0.01% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,354.62 จุด ลดลง 33.88 จุด หรือ -0.30%
โดยในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 2.9%, ดัชนี S&P500 ลดลง 3.0% และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 3.8%
สำหรับหุ้น 6 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดบวก นำโดยกลุ่มเฮลท์แคร์ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.26% ขณะที่หุ้นลบนำโดยกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งลดลง 1.53% ส่วนหุ้นเทสลา ร่วงลง 6.4% หลังนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอ ปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า เขาได้ล่วงละเมิดทางเพศพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินส่วนตัวในปี 2559 และหุ้นขนาดใหญ่อื่น ๆ ปรับตัวลงด้วย โดยหุ้นอัลฟาเบท ร่วง 1.3% และหุ้นอินวิเดีย ร่วง 2.5% แต่หุ้นไฟเซอร์ พุ่งขึ้น 3.6% ซึ่งช่วยหนุนดัชนี S&P500 ส่งผลความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นนั้นฉุดตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงในปีนี้
นอกจากนี้ การเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวังจากบริษัทวอลมาร์ทและบริษัทค้าปลีกรายอื่น ๆ ในสัปดาห์นี้นั้น ได้เพิ่มความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจด้วย รวมถึงการคาดการณ์ผลประกอบการที่น่าผิดหวังจากบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ อาทิ วอลมาร์ท และทาร์เก็ต อิงค์ ได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขาย และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้เริ่มที่จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐ
ส่วนบรรดาเทรดเดอร์ได้ปรับตัวรับโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม รวมถึงด้านผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจนั้น มีแนวโน้มที่จะทำให้การซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวนต่อไป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตลาดจะยังคงปั่นป่วนต่อไปจนกว่านักลงทุนจะมีความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย, อัตราดอกเบี้ย และความเสี่ยง